บริษัท Pandora ผู้ขายเครื่องประดับอัญมณีรายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจำหน่ายกำไลข้อมือและจี้เงิน บริษัทสัญชาติเดนมาร์กแห่งนี้ได้ขายเครื่องประดับมากกว่า 100 ล้านชิ้นต่อปี มีโรงงานผลิตอยู่ที่ประเทศไทย และมีการจ้างช่างฝีมือในไทยกว่า 12,200 ตำแหน่ง บริษัท Pandora ได้ประกาศว่าบริษัทได้มีการใช้วัสดุจากโลหะรีไซเคิลทั้งหมด ได้แก่ เงินและทอง โดยจะไม่ใช้แร่ที่ขุดขึ้นมาใหม่
การเคลื่อนไหวของบริษัท Pandora เป็นก้าวสำคัญของบริษัทขนาดใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Environmental Footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในการบ่งบอกว่าขั้นตอนการผลิตได้สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด นาย Alexander Lacik ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Pandora ได้ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทต้องการจะเป็นผู้นำในการใช้โลหะรีไซเคิลเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับตลาด หากบริษัท Pandora สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม โดยการใช้วัตถุดิบจากเงินและทองรีไซเคิลในการผลิตอัญมณีได้ ก็หมายความว่าคนอื่นๆ ก็สามารถทำตามได้เหมือนกัน
บริษัท Pandora จะไม่ลงไปขุดหาแร่โลหะใหม่ๆ แต่จะใช้แร่ที่ได้มีการขุดขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก การทำเหมืองแร่ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมากกว่าการรีไซเคิลและยังเป็นการสร้างแหล่งมลพิษจากสารปรอท จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่ากระบวนการรีไซเคิลทองคำได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 99 เมื่อเทียบกับการขุดทองคำใหม่ ส่วนการรีไซเคิลเงินได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับการขุดแร่เงินใหม่
แบรนด์อื่นๆ อย่างแบรนด์ Prada แบรนด์ Monica Vinader ได้เริ่มการใช้โลหะรีไซเคิลแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมได้ออกมาเตือนว่าโลหะรีไซเคิลอาจสร้างภาพลักษณ์ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินจริง เนื่องจากแต่ละคนได้ให้ความหมายของคำว่า “รีไซเคิล” แตกต่างกันเช่นเดียวกับคำว่า “ความยั่งยืน”
Ms. Tiffany Stevens ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Jewelers Vigilance Committee ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์กที่เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในอุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณีกล่าวว่าโดยทั่วไปคำว่า “รีไซเคิล” ได้เป็นคำเชิงบวก ทำให้เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลได้สร้างกลิ่นอายของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การตีความหมายของคำว่า “รีไซเคิล” ยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีการชี้แจงแหล่งที่มาของโลหะรีไซเคิล ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Ms. Stevens ได้ขอให้คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ (Federal Trade Commission) ห้ามการใช้คำว่า “รีไซเคิล” กับสินค้าอัญมณีที่ขายในสหรัฐฯ โดยคาดว่า Federal Trade Commission จะประกาศแนวปฏิบัติของการทำการตลาดด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2567 นี้
ปัจจุบันแนวปฏิบัตินี้ได้กำหนดว่าการใช้คำว่า “รีไซเคิล” โดยไม่ได้มีการใช้หรือแปรรูปวัสดุที่มาจากของเสียเป็นการนำเสนอที่หลอกลวง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโลหะมีค่าไม่ควรถือเป็นของเสีย เนื่องจากเมื่อโลหะถูกหลอมละลายยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายศตวรรษโดยที่มูลค่าของโลหะยังคงเดิมอยู่ นอกจากนี้ “รีไซเคิล” ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้คำนึงถึงแหล่งที่มาของแร่โลหะเท่าที่ควร เนื่องจากแหล่งที่มาของแร่โลหะบางชนิดอาจมาจากโรงงานสกัดแร่ที่ใช้แรงงานเด็กหรือโรงงานสกัดแร่ที่สนับสนุนเงินทุนให้แก่เครือข่ายอาชญากร นาย Patrick Schein เจ้าของโรงงานสกัดแร่และสมาชิกคณะกรรมการของ Alliance For Responsible Mining ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการทำเหมืองแร่ที่รักษาสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าคำว่า “รีไซเคิล” ได้ทำให้โลหะที่ได้มาจากแหล่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่ผิดจรรยาบรรณเป็นโลหะแปรรูปใหม่ที่มีความถูกต้องทางจริยธรรมขึ้นมา
ในขณะที่กลุ่ม Alliance For Responsible Mining ได้สนับสนุนในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีผ่านการทำงานกับเหมืองแร่ขนาดเล็กให้มีการสกัดแร่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในรายงานปี 2563 ของกลุ่ม Alliance For Responsible Mining และพันธมิตรได้ชี้แจงว่าทองคำรีไซเคิลได้ทำให้แรงงานต้องเผชิญสถานการณ์ที่เปราะบาง เช่น การมีใบอนุญาตการเป็นคนงานเหมืองอย่างเป็นทางการ การทำงานในสถานที่ห่างไกล เป็นต้น
นาย Lacik กล่าวว่าการที่บริษัท Pandora เปลี่ยนมาใช้โลหะรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องตัดสินใจว่าประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมากหรือน้อยกว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สำหรับ Pandora การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในระยะยาว
แม้ว่าบริษัท Pandora จะหันมาใช้โลหะรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จากข้อมูลสถิติพบว่าการขุดทองและเงินไม่ได้มีการชะลอตัวในทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น การที่บริษัทต่างๆ หันมาใช้โลหะรีไซเคิลอาจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พนักงานกว่า 100 คนของ Pandora ได้มีส่วนในการเปลี่ยนมาใช้โลหะรีไซเคิล ซึ่งปี 2564 ได้เปลี่ยนจากการขุดเป็นการปลูกเพชรในห้องปฏิบัติการ การเปลี่ยนแหล่งที่มาของโลหะได้ทำให้องค์กร Responsible Jewellery Council ซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างมาตรฐานการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีระดับโลกในกรุงลอนดอน ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการและเครื่องมือในการวัดมาตรฐานอัญมณี
บริษัท MKS PAMP ผู้ค้าและสกัดแร่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นคู่ค้ากับบริษัท Pandora ในการหาโลหะรีไซเคิลกล่าวว่าบริษัทสามารถชี้แจงแหล่งที่มาของแร่โลหะทุกกรัมได้ว่าใครเป็นเจ้าของ นาย Xavier Miserez หัวหน้าฝ่ายขายได้ให้ความเห็นว่าบริษัทหลีกเลี่ยงในการใช้โลหะรีไซเคิลจากแหล่งที่ไม่ได้มีการปฏิบัติกับพนักงานอย่างเป็นธรรม
บริษัท Pandora มีแผนที่จะลงทุนมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีสำหรับการเปลี่ยนมาใช้โลหะรีไซเคิลแทนการขุดแร่โลหะขึ้นมาใหม่ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะแบกรับต้นทุนดังกล่าว อย่างไรก็ดี นาย Lacik มองว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าก็คือการออกแบบและราคา และอาจมีบางกลุ่มที่คำนึงถึงเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืนแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
นอกจาก การออกแบบและราคาของเครื่องประดับและอัญมณีจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของผู้บริโภคแล้ว ความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ใช้โลหะรีไซเคิลในการผลิตอัญมณีแทนการขุดแร่ขึ้นมาจากใต้ดินใหม่ เพื่อลดการสร้าง Environmental Footprint และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยอาจจะศึกษาและปรับปรุงห่วงโซ่การผลิตของเครื่องประดับและอัญมณีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นพร้อมกับติดตามการอัพเดทแนวปฏิบัติของการทำการตลาดด้านสิ่งแวดล้อม (Green Guides) โดย Federal Trade Commission เพื่อศึกษาแนวทางในการทำการตลาดในสหรัฐฯ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ กำหนด
ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การใช้ทรัพยากรรีไซเคิลของอุตสาหกรรมอัญมณี