ภายหลังชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะก่อสร้างโอกาสและและความท้าทายต่อประเทศแอฟริกาใต้
**โอกาส
1.แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก
ในช่วงที่ทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP ขยายตัว 2.5% ในปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง หากนโยบายของเขากลับไปสู่จุดยืนเดิมในช่วงที่เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แอฟริกาใต้อาจจะได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อตลาดเกิดใหม่
2.การเพิ่มโอกาสทางการลงทุน
การมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกกฎระเบียบและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของทรัมป์ อาจสามารถดึงดูดการลงทุนของสหรัฐฯไปยังแอฟริกาใต้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมในท้องถิ่น สร้างงาน ส่งเสริมการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่แอฟริกาใต้
3.กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (African Growth and Opportunity Act : AGOA)
ประเทศแอฟริกาใต้ได้ประโยชน์ยาวนานจาก AGOA ซึ่งสหรัฐฯได้ลดภาษีนำเข้าให้แก่แอฟริกาใต้ในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐ ซึ่งทรัมป์อาจสนับสนุน AGOA ต่อไปอย่างเช่นในอดีต ซึ่งอาจเพิ่มการส่งออกจากแอฟริกาใต้ไปยังสหรัฐฯ และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาวีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
4.นโยบายการค้าที่คาดการณ์ได้มากขึ้น
แนวทางที่แน่วแน่และชัดเจนของทรัมป์ต่อนโยบายการค้าสามารถช่วยผู้ส่งออกแอฟริกาใต้สามารถคาดการณ์แผนกลยุทธ์ในระยะยาวได้
**ความท้าทาย
1.ความตึงเครียดต่อการค้าระหว่างประเทศ
ทรัมป์มีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องสหรัฐฯ แม้ว่าบางอุตสาหกรรมอาจจะเติบโต แต่การเพิ่มภาษีนำเข้า จะสร้างความตึงเครียดต่อเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรของแอฟริกาใต้อาจจะเผชิญกับภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากแอฟริกาใต้ในตลาดสหรัฐฯ
2.ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินแรนด์
นโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเงินแรนด์ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของแอฟริกาใต้ เนื่องจากเงินแรนด์มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อตลาดโลกและความเชื่อมั่นของสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจเกิดใหม่ มาตรการทางการค้าเชิงรุกหรือความไม่มั่นคงทางการเมืองอาจนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินแรนด์ เงินแรนด์ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อในประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวคือการเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
3.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จะมีลักษณะที่คาดเดาไม่ได้ทั้งในด้านในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจำทำให้เกิดความไม่มั่นคงในตลาดโลก เพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและเพิ่มความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ อาจหมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการลงทุนจากต่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการค้า
**บทสรุป : ประเทศแอฟริกาใต้กำลังเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดต่อผลกระทบของชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากที่เกี่ยวข้องกับนโยบายปกป้องของทรัมป์ และความ ไม่มั่นคงที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดโลก ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในอนาคตของประเทศแอฟริกาใต้ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ คือแอฟริกาใต้ต้องปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของโลกและการแสวงหาวิธีกระจายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : ชัยชนะของโดนัล ทรัมป์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยแต่ละประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของประเทศนั้นๆกับสหรัฐฯ
ข้อมูลจาก S&P Global (ประมวลจาก South African Revenue Service) ระบุว่า 9 เดือนแรกของปี 2567 แอฟริกาใต้ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 6,163.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 7.57 ของการส่งออกทั้งหมดของแอฟริกาใต้ อนึ่ง ส่งออกอันดับที่ 1 คือ จีน คิดเป็นร้อยละ 11.64) สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ แพลทินัม รถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ อลูมิเนียม โลหะผสมเหล็ก (Ferroalloy) อัญมณีมีค่า ทั้งนี้ แอฟริกาใต้นำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 5,312.39 ล้านดอลลาร์ (มากเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 7.01 ของการนำเข้าทั้งหมดของแอฟริกาใต้ อนึ่ง นำเข้าอันดับที่ 1 คือจีน ร้อยละ 20.94 อันดับที่ 2 คือเยอรมนี ร้อยละ 7.32) สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องบินเทอร์โบเจ็ท/ใบพัดเทอร์โบและกังหันก๊าซอื่นๆและส่วนประกอบ น้ำมันปิโตรเลียม รถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์/รถแทรกเตอร์ สิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศข้างต้น ชี้ชัดว่า สหรัฐฯเป็นคู่ค้าที่สำคัญของแอฟริกาใต้ ทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ดังนั้น นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯย่อมส่งผลกระทบต่อแอฟริกาใต้อย่างมาก ประกอบกับที่ผ่านมาสินค้าส่งออกจากแอฟริกาใต้ไปสหรัฐฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (African Growth and Opportunity Act : AGOA) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2543 (สมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต) ทำให้สินค้ากว่า 1,800 รายการจากทวีปแอฟริกา (ปี 2567 มีสมาชิกจากทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก AGOA) ส่งออกไปยังสหรัฐฯได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 (สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต) สภาคองเกรส ได้ขยายเวลาการใช้บังคับ AGOA ถึงปี 2568 ในระยะต่อไป สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน จะพิจารณาต่ออายุ AGOA หรือไม่ เป็นสิ่งที่แอฟริกาใต้กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ แอฟริกาใต้ได้สร้างความสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน และ มนุษยธรรมและวัฒนธรรม
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ (ประมวลข้อมูลจากกรมศุลกากร) ระบุว่า 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ มูลค่า 2,287.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ในขณะที่ ไทยนำเข้าจากแอฟริกาใต้ มูลค่า 488.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ อัญมณีมีค่า เครื่องจักรและส่วนประกอบ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังแอฟริกาใต้และสินค้าดังกล่าวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของแอฟริกาใต้ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จำเป็นต้องติดตามผลการพิจารณาของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งอาจกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยมองหาคู่ค้ารายใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงกรณีสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุ AGOA
เครดิตภาพและที่มาข่าว www.gauteng.net
ประมวลโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
พฤศจิกายน 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศแอฟริกาใต้