หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ > โอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต

โอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต

1. ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว

* ในปี 2561 รถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวน 5.1 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63% หรือเกือบ 2 ล้านคัน ประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด คือ จีน 2.3 ล้านคัน ยุโรป 1.2 ล้านคัน สหรัฐฯ 1.1 ล้านคัน และประเทศอื่นๆ รวม 0.5 แสนคัน


* คาดการณ์ว่าในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกจะสูงถึง 23 ล้านคัน ยอดสะสม (Stock) 135 ล้านคันทั่วโลก และมีโอกาสที่ยอดจำหน่ายและยอดสะสมจะเพิ่มสูงเกินกว่า 40 และ 250 ล้านคัน หากทั่วโลกร่วมแคมเปญ EV30@30 (ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายจนรถยนต์ไฟฟ้าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ทั่วโลกได้อย่างน้อยร้อยละ 30)


* ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า คือ นโยบายส่งเสริมของภาครัฐประเทศต่างๆ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลภาวะในอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนแบตเตอรี่และการผลิตส่วนอื่นๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าที่กระจายอย่างทั่วถึง ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคเอกชน
* กระแสรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออกรถยนต์ และผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันถึงร้อยละ 37

2. ผู้ผลิตและผู้ซื้อหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

* การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2561 มีมูลค่าเท่ากับ 45,551 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28% โดยตลาดที่มีศักยภาพเติบโตมี 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ยุโรป (นอร์เวย์ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน) สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย มีมูลค่าการนำเข้ารวมกัน 27,521 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 60% ของการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ทั่วโลกมีมูลค่า 451,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10%
* กลุ่มตลาดศักยภาพนี้นำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี เกาหลีใต้ และจีน เป็นหลัก (กรณีตลาดสหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกด้วย) จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้ง 5 ประเทศเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก
* อย่างไรก็ตาม มาตรการปกป้องทางการค้าและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ กับจีน เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในบางประเทศ และเป็นแรงจูงใจในการแสวงหาพันธมิตรทางการผลิตการค้า รวมทั้งต้องแสวงหาแนวทางการทำตลาดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

* ในปี 2561 การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของไทยมีมูลค่า 413.6 และ 7,313 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% และ 1.6% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนทั้งโลก และไทยยังไม่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดศักยภาพ 12 ประเทศมากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยมีการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างจริงจัง และจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลัก คือ สหรัฐฯ เยอรมนี จีน และเกาหลีใต้ ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในไทยมากขึ้น
* แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าชี้ให้เห็นว่า

– ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในของไทยอาจมีความท้าทายในการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดศักยภาพและประเทศอื่นที่มีแนวโน้มลดการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่ตลาดอาเซียนยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ยังไม่สูงมาก
– ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จะได้รับผลกระทบมากในกลุ่มเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบเชื้อเพลิง ระบบระบายความร้อน ระบบควบคุมไอเสีย โดยมีความต้องการลดลงจากการถูกแทนที่ด้วยชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์เพื่อทดแทนสินค้าและอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายในตลาด Replacement Equipment Manufacturer (REM) จะได้รับผลกระทบมากเช่นกันเพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่น้อยลง ทำให้การสึกหรอต่ำ ไม่ต้องการบำรุงรักษามาก อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทโครงและตัวถัง ระบบเบรค (บางส่วน) ระบบส่องสว่าง อุปกรณ์ภายใน เป็นต้น อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะสามารถใช้ชิ้นส่วนได้กับรถยนต์ทั้งสองประเภท
– รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนและมีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน ผู้ผลิตไทยจึงจำเป็นต้องปรับการผลิตให้ทันสมัยเพื่อผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันจากผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนต่างชาติที่จะใช้เครื่องจักรผลิตชิ้นงานที่มีมาตรฐานปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็วด้วย

* อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจไทยอยู่ จากตลาดและความต้องการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเปลี่ยน/ต่อยอดจากฐานการผลิตที่มีอยู่เดิม จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่รออยู่ได้ นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์ การพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ เป็นต้น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จไฟ อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบพกพา บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น

4. ข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย

1) ส่งเสริมการลงทุนในไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิต และการส่งออก โดย

– หาพันธมิตรทางการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี เกาหลีใต้ และจีน) ร่วมลงทุนในไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่จะทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและขยายผลไปสู่การผลิตรถยนต์เองได้ในระยะยาว โดยชิ้นส่วนสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ คือ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำจากวัสดุใหม่หรือเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และอุปกรณ์ชาร์ตไฟแบบเร็วและแบบพกพา
– ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย และนักลงทุนต่างชาติ ใช้ไทยเป็นฐานส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องไปยังตลาดอาเซียน ตลาดแถบโอเชียเนีย และตลาดศักยภาพที่อยู่ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เป็นต้น

2) ส่งเสริมการลงทุนในตลาดอื่น เพื่อขยายตลาด

– กระแสการปกป้องทางการค้า อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในบางประเทศ และส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเข้าถึงตลาดด้วยการลงทุนตั้งฐานการผลิต หรือร่วมลงทุนกับธุรกิจในประเทศเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้จากการร่วมลงทุน ทั้งด้านขององค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ได้ และคุณภาพกลุ่มลูกค้าของธุรกิจนั้นๆ ด้วย

5. ข้อเสนอการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์สามารถมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ออกแบบซอฟท์แวร์ แอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จากผู้ผลิตหลัก 5 ประเทศ (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี เกาหลีใต้ และจีน) กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สถาบันยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อาทิเช่น

– เชื่อมโยงภาคเอกชนจากประเทศผู้ผลิตหลักกับภาคเอกชนไทย เพื่อหาองค์กรธุรกิจที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนไทย เพื่อขยายผลความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
– ส่งเสริมการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนไปยัง 12 ตลาดศักยภาพ และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โอเชียเนีย ที่มีแนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย
– หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ตัวแทนผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนจากผู้ผลิตหลักในประเทศไทย เป็นต้น เพื่อกำหนดแนวทางทำความตกลงกับประเทศศักยภาพเพื่อยอมรับมาตรฐานและการตรวจสอบทั้งสองฝ่ายร่วมกัน (MRA) รวมทั้งลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศศักยภาพได้มากขึ้น

Login