หน้าแรกTrade insightทุเรียน > เกาะติดสถานการณ์การบริโภคทุเรียนของจีน

เกาะติดสถานการณ์การบริโภคทุเรียนของจีน

รายงานการศึกษาการพัฒนาและวิเคราะห์ตลาดอุตสาหกรรมทุเรียนเชิงลึกปี ค.ศ. 2023 – 2028  เปิดเผยว่า จีนเริ่มปลูกทุเรียนในยุค 50 โดยทดลองปลูกในมณฑลไห่หนานแต่ได้ผลไม่ดีจึงยกเลิกไป และเข้าใจว่าจีนมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกทุเรียน ทำให้การค้าขายทุเรียนในจีนจึงพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว และพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โครงสร้างการบริโภคและการพัฒนาโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการทุเรียนของจีนทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย โดยในปี ค.ศ. 2022 จีนมีความต้องการบริโภคทุเรียนถึง 824,900 ตัน ซึ่งความต้องการบริโภคทุเรียนในจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงปี ค.ศ. 2014 – 2022 สูงถึงร้อยละ 12.77

ปัจจุบันทุเรียนที่จำหน่ายในตลาดจีนมากที่สุดคือ ทุเรียนจากไทย และเวียดนาม โดยทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่ถูกนำเข้ามากที่สุด จึงมีข้อได้เปรียบอย่างมากในตลาดจีนทั้งด้านปริมาณ ช่องทางการค้า และการรับรู้แบรนด์ ทำให้ตลาดทุเรียนนำเข้าของจีนค่อนข้างที่จะถูกผูกขาดโดยทุเรียนไทย

สำหรับกลุ่มผู้บริโภคทุเรียนหลักของจีน พบว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคคนหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อ โดยผู้บริโภคกลุ่มที่ครอบสัดส่วนการบริโภคมากที่สุดมีอายุระหว่าง 24 – 30 ปี รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคอายุ 31 – 40 ปี และกลุ่มผู้บริโภคอายุ 18 – 23 ปี ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาด้านการนำเข้า พบว่าในปี ค.ศ. 2022 จีนนำเข้าทุเรียนสดจำนวน 825,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,030 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 137,020 ล้านบาท โดยในที่นี้ เป็นการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยมากที่สุดจำนวน 780,000 ตัน รองลงมา ได้แก่ ทุเรียนสดเวียดนาม เนื่องจากเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นมา จีนได้อนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดเข้าตลาดจีนได้ และต่อมาในเดือนมกราคม 2023 จีนก็ได้อนุญาตให้ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนสดมายังจีนได้เพิ่มอีก 1 ราย แต่ยังไม่พบว่ามีปริมาณการนำเข้าจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเพิ่งได้รับการอนุญาตนำเข้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34 บาท)

ปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคในตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนทุเรียนสดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีการเปิดเผยสถิติการจำหน่ายทุเรียนสดในช่วงเทศกาล 11.11 ในปี ค.ศ. 2022 ที่พบว่าทุเรียนแช่แข็งบนแพลตฟอร์ม JD.com มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 900 (YoY)

แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนในปัจจุบันกว่าร้อยละ 99.99 มาจากประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยที่เปิดเผยว่าในปี ค.ศ. 2021 ไทยส่งออกทุเรียนไปทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 3,489 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 118,626 ล้านบาท โดยในที่นี้ เป็นการส่งออกทุเรียนมายังจีนคิดเป็นมูลค่าถึง 3,139 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 106,726 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.96 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนที่รับประทานทุเรียนสดในจีนส่วนใหญ่จึงเป็นทุเรียนที่นำเข้ามาจากไทย และเป็นการบริโภคตามฤดูกาลทุเรียนของไทยที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงผลิตทุเรียนของไทย และทุเรียนจะเริ่มสุกในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ทำให้ทุเรียนไทยจะเริ่มเข้าตลาดจีนในช่วงเดือนพฤษภาคม และมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติอร่อยที่สุดสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองจากภาคตะวันออกของไทยที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม

เมื่อพิจารณาจากการแข่งขันในตลาดทุเรียนของจีนพบว่า มูลค่าของตลาดทุเรียนของจีนสูงถึง 100,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวนเท่ากับ 5 บาท) และเป็นตลาดผลไม้สดที่มีผู้ประกอบการเข้าลงแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทำให้รูปแบบการแข่งขันมีความกระจัดกระจายสูง ขณะที่ส่วนแบ่งในตลาดต่ำ โดยเมื่อพิจารณามูลค่ายอดขายพบว่า บริษัท Hongjiu Fruit เป็นผู้จัดจำหน่ายทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดร้อยละ 8.3 โดยรูปแบบธุรกิจของ Hongjiu Fruit เป็นรูปแบบ End-to-End หรือมีกระบวนการโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยทุเรียนที่จำหน่ายส่วนใหญ่มาจากจังหวัดจันทบุรีและชุมพรของไทย ซึ่งจะผ่านการคัดแยก บรรจุ เก็บรักษาที่โรงงานไทย จากนั้นจะถูกส่งเข้ามายังตลาดค้าส่งในจีน ทำให้มีความเชื่อมโยงของสินค้าที่มีการไหลเวียนทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิตทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก

หลายปีที่ผ่านมานี้ มีการพัฒนาตลาดทุเรียนในหลายเมืองในมณฑลไห่หนานของจีนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 30,000 หมู่หรือประมาณ 12,500 ไร่ และปัจจุบันยังพบว่ามณฑลไห่หนาน กวางตุ้ง และยูนนานเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาด้านการเพาะปลูกทุเรียน โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลไห่หนาน ที่มีการเพาะปลูกทุเรียนกว่า 12,500 ไร่ และเมื่อเร็วๆ นี้ พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเมืองซานย่าจำนวน 583.33 ไร่ก็พบว่าสามารถเพาะปลูกจนเริ่มมีผลผลิตทุเรียนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสุกและถูกกระจายเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน 2023 และคาดว่าจะให้ปริมาณผลผลิตสูงถึง 1,750 กิโลกรัมต่อ 2.4 ไร่ และทุก 2.4 ไร่จะมีมูลค่าการผลิต 100,000 หยวนขึ้นไป หรือประมาณ 500,000 บาทขึ้นไป และอีก 1 – 2 ปี จีนวางแผนจะขยายพื้นที่สวนทุเรียน 25,000 ไร่ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยสร้างมูลการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในอดีตที่ผ่านมา จีนอนุญาตให้ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ จึงทำให้ปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนจากไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดทุเรียนจีนถูกผูกขาดโดยไทย โดยการที่ทุเรียนได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภคชาวจีน ทำให้ทุเรียนมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปและมีราคาสูง นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาผลผลิตทุเรียนไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมทุเรียน ทำให้การแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผลดีสำหรับผู้ส่งออกทุเรียนสดของไทย แต่อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกทุเรียนสดของไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การบริโภค การนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศ และการเพาะปลูกทุเรียนสดของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับไทยเริ่มมีคู่แข่งในการส่งออกทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีน ดังนั้น ผู้ส่งออกทุเรียนสดของไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยต้องร่วมมือกันส่งเสริมการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ทุเรียนให้มีมูลค่าเพิ่มและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดจีน ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และอัปเดตให้แก่ผู้ส่งออกของไทย รวมถึง ให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ความเป็นทุเรียนพรีเมียมและเอกลักษณ์ของทุเรียนสดของไทย ตลอดจน แสวงหาและขยายช่องทางในการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทุเรียนสดของไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของทุเรียนสดในตลาดจีนได้อย่างยาวนาน และเป็นทุเรียนที่ได้รับความนิยมและมีความต้องการนำเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา:

https://www.chinairn.com/hyzx/20230523/180443826.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

Login