หน้าแรกTrade insight > สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

ภาพรวม

.

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.74 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 1.05 โดยมีปัจจัยสำคัญจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ที่เป็นผลจาก สถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่กลุ่มพลังงานกลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 2 เดือน สำหรับหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.58 (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว ร้อยละ 0.47) และเฉลี่ย 2 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.89 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.53 (AoA)

.

การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการลงทุนที่ชะลอตัวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ส่งผลกระทบทางตรงต่อพฤติกรรมและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมทำให้รายได้ของภาคธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การขนส่ง การค้าปลีกและการค้าส่ง การผลิตและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเครื่องชี้วัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ยังมีสัญญาณที่ดี ทั้งด้านรายได้และการใช้จ่าย อาทิ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 105.34 สอดคล้องกับรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนี้ รายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากการบริโภค ในประเทศ และดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกก็กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 5 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติ

.

แนวโน้มปี 2563

.

เงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอิทธิพลจากภัยแล้ง และราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวในช่วงแรกก่อนจะเริ่มผันผวนในทิศทางที่ลดลงในระยะต่อมา ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อรายได้ กำลังซื้อ และความต้องการสินค้าและบริการ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกอาจต่ำกว่าการคาดการณ์ (ต่ำกว่า 0.8) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่เริ่มทะยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ภัยแล้งยังคงมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างมากในปีนี้ น่าจะทำให้เงินเฟ้อในครึ่งหลังของปี มีโอกาสกลับเข้าสู่กรอบคาดการณ์ได้ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.4 – 1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ 0.8) ซึ่งอาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในระยะต่อไป

.

ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแแถลงข่าวเพิ่มเติม ได้ที่

http://www.tpso.moc.go.th/th/node/10601

Login