หลังจากห่างหายจากการพบปะเยี่ยมเยือนสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและทางเศรษฐกิจระหว่างกันกว่า 6 ปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 พ.ค. 66) คณะผู้แทนจำนวน 9 คน จากประเทศเวียดนามนำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม (นายโด่ หุ่ง เหวียด Do Hung Viet) เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ (นายมาซุด บิน โมเมน Masud Bin Momen) โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมในการหาข้อสรุปข้อตกลงการค้าเสรีทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคีระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเปลี่ยนผ่านจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นประเทศกำลังพัฒนาของบังกลาเทศ (ปี 2569) ในการพบปะกันครั้งนี้ ฝ่ายบังกลาเทศเสนอสิ่งจูงใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่บังกลาเทศจะสนับสนุนให้ชุมชนธุรกิจและผู้ประกอบการชาวเวียดนามได้เข้ามาลงทุน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจของบังกลาเทศ
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงทางอากาศโดยตรงเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การพาณิชย์ และการลงทุน และเพื่อเร่งการท่องเที่ยวและการติดต่อระหว่างประชาชนการเดินทางระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกันให้เร็วที่สุด
ในการพบปะครั้งนี้ บังกลาเทศและเวียดนามจะเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการพาณิชย์ การลงทุน พลังงาน การค้าสินค้าฮาลาล การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ การป้องกันและความมั่นคง การเกษตร การประมงและปศุสัตว์ ICT และโทรคมนาคม
ในการเตรียมความพร้อมที่จะเปลี่ยนสถานะจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น รัฐบาลบังกลาเทศได้เริ่มการรื้อฟื้นการเจรจากรอบเขตการค้าเสรีกับ 11 ประเทศ ทั้งนี้ ก่อนการปรับเปลี่ยนสถานะบังกลาเทศได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นแรงจูงใจและแต้มต่อทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด แต่หลังจากการเปลี่ยนสถานะ สิทธิพิเศษที่ว่านั้น จะหมดไปและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจบังกลาเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก ร้อยละ 80 ของการส่งออก มาจากสินค้าจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของบังกลาเทศในการส่งสินค้าไปในประเทศที่เคยให้สิทธิพิเศษ นอกจากนั้นบังกลาเทศยังต้องหันไปผลิตสินค้าอื่นๆ เพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบังกลาเทศจะพยายามเจรจาและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนให้เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระเบียบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สอดคล้องกัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต้องศึกษากฎ ระเบียบของหน่วยงานต่างๆ อย่างละเอียด รวมทั้งต้องจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายมาช่วยให้เกิดความมั่นใจ
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)