สถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) แห่งสหรัฐฯ ได้เตือนแอฟริกาใต้ว่า สหรัฐฯ อาจจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างต่อแอฟริกาใต้ รวมถึงอาจจะกีดกัดแอฟริกาใต้ออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศ(The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunications :SWIFT) ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะในการถอนแอฟริกาใต้ออกจาก SWIFT เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2565 (ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการตัดออกจาก SWIFT) เนื่องจากจุดยืนที่เป็นกลางของแอฟริกาใต้ต่อกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน อนึ่ง ปี 2565 รัสเซียได้ถูกตัดออกจาก SWIFT ส่งผลให้จำกัดความสามารถในการชำระเงินระหว่างประเทศของรัสเซียอย่างมาก
นายโจชัว เมเซอร์วีย์ นักวิชาการอาวุโสของสถาบันฮัดสันกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรแอฟริกาใต้ โดยความเห็นดังกล่าวของนายเมเซอร์วีย์ อาจเกิดจากการที่นายรอนนี่ แจ็คสัน สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-แอฟริกาใต้ ปี 2568 (the US-South Africa Bilateral Relations Review Act of 2025) เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ โดยนายแจ็คสัน เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยนโยบายการต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ มีเครื่องมือในการคว่ำบาตรแอฟริกาใต้ซึ่งสนับสนุนศัตรูของสหรัฐฯ อาทิ จีน รัสเซีย
สาเหตุอื่นที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและแอฟริกาใต้ คือ แอฟริกาใต้ได้ลงนามในกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการยึดที่ดินของประชาชนโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแอฟริกาใต้ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกษตรผิวขาว ทั้งนี้ รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ระบุว่าพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินเพียงอนุญาตให้เวนคืนที่ดินโดยไม่ต้องชดเชยเฉพาะบางกรณี และมีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่เข้มงวด
เมื่อเร็วๆนี้ แอฟริกาใต้ได้ผ่อนคลายความกังวล หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าและลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากพันธมิตรทางการค้าส่วนใหญ่ลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน (มีผลบังคับใช้เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 9 เมษายน 2568) โดยที่แอฟริกาใต้ได้รับการลดภาษีจาก 30% เป็น 10%
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ: ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับแอฟริกาใต้ตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้เข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2568 โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สหรัฐฯ ได้ตัดงบประมาณสนับสนุนแอฟริกาใต้ (ข้อมูลจาก US Foreign Assistance ระบุว่า ปี 2566 สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือแก่แอฟริกาใต้เกือบ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแสดงความไม่พอใจที่แอฟริกาใต้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินโดยไม่ชดเชย และการที่แอฟริกาใต้ฟ้องอิสราเอลต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (CIJ) หรือศาลโลก กรณีคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2568 สหรัฐฯ ได้ขับไล่นายอิบราฮิม ราซูล เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ออกจากสหรัฐฯ
หากสหรัฐฯ จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างต่อแอฟริกาใต้ รวมถึงการกีดกัดแอฟริกาใต้ออกจากระบบ SWIFT ย่อมจะส่งผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศของแอฟริกาใต้อย่างมาก ผู้ประกอบการไทยที่มีการค้ากับแอฟริกาใต้จะต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของแอฟริกาใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมวางแผนลดความเสี่ยงและป้องผลกระทบล่วงหน้า
ปี 2567 แอฟริกาใต้เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 23 และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ในทวีปแอฟริกา (คิดเป็นร้อยละ 44.14 ของมูลค่าส่งออกไทยไปยังทวีปแอฟริกา รองลงมาคือ อียิปต์ เซเนลกัล ลิเบีย ตามลำดับ) โดยไทยส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ มูลค่า 3,065.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (33.63% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปแอฟริกาใต้) (2) ข้าว (15.59%) (3) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (12.22%) (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (5.89%) และ (5) ผลิตภัณฑ์ยาง (4.49%) ตามลำดับ โดยปี 2567 ไทยได้ดุลการค้าแอฟริกาใต้ มูลค่า 2,462.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มาข้อมูลและเครดิตภาพ :www.businesstech.co.za
ประมวลโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
เมษายน 2568
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหรัฐฯ อาจคว่ำบาตรแอฟริกาใต้