องค์การการค้าโลก (WTO) ออกมาเตือนว่ามาตรการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศเกิดภาวะถดถอยในปีนี้และส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
รายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าโลกจาก WTO ระบุว่าก่อนหน้านี้ WTO คาดการณ์ว่าการค้าสินค้าทั่วโลกจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 2.7% ในปี 2025 นี้ แต่ขณะนี้ WTO ได้ปรับการการคาดการณ์เป็นติดลบ 0.2% ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
นาง Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO กล่าวขณะนำเสนอการคาดการณ์ว่ารู้สึกเป็นกังวลอย่างมากต่อการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน การค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้คาดว่าจะลดลงถึง 81-91% หากไม่มีการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ตโฟน โดยระบุว่าการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจนี้เปรียบเสมือนการแยกเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศออกจากกันอย่างสิ้นเชิงและจะส่งผลกระทบลุกลามเป็นวงกว้าง โดย WTO กำลังหารือกับประเทศสมาชิกว่าจะจัดการประชุมวาระพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่
ในรายงานของ WTO ระบุว่าการค้าโลกมีแนวโน้มแย่ลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอัตราภาษีที่พุ่งสูงขึ้นและความไม่แน่นอนด้านนโยบายทางการค้า ก่อนหน้านี้ WTO คาดการณ์ว่า GDP โลกในปี 2025 จะเติบโต 2.8% แต่ขณะนี้ได้ปรับลดการคาดการณ์ลงเหลือเพียง 2.2%
สหรัฐฯ ได้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทในอัตรา 10% เก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงถึง 145% สำหรับสินค้าจากจีน และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในบางอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และเหล็กกล้า จากนโยบายการเก็บภาษีนำเข้านี้ WTO คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ยอดการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ คาดว่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไป
หลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนของประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างรุนแรง ประธานาธิบดีทรัมป์จึงระงับการใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนเป็นเวลา 90 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว WTO เตือนว่าหากมีการนำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้จริง มาตรการภาษีต่างตอบแทนนี้จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่ามาก โดยจะทำให้การค้าสินค้าทั่วโลกลดลง 0.8% และอาจเกิดความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าตามมา เนื่องจากประเทศอื่นๆ ต้องปรับนโยบายตามเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้านี้ WTO คาดการณ์ว่าจะทำให้การค้าทั่วโลกลดลง และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด WTO คาดการณ์ว่า GDP โลกจะเติบโตเพียง 1.7% เท่านั้น
หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีต่างตอบแทนในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยเรียกวันนั้นว่า “วันปลดปล่อยอิสรภาพ” แล้วตามมาด้วยแถลงการณ์หลายฉบับจากทางสหรัฐฯ ที่ดูขัดแย้งกันเอง ทำให้ WTO เตือนว่าความไม่แน่นอนก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยระบุว่าความไม่แน่นอนทำให้ต้องมีความรอบคอบในการตัดสินใจมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าสามารถส่งผลกระทบในหลายด้าน ทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ส่งผลให้การลงทุนทางธุรกิจชะลอตัว และท้ายที่สุดบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
WTO ยังกล่าวเสริมว่า ท้ายที่สุดแล้วระดับความสามารถของภาคธุรกิจในการบริหารจัดการกับความไม่แน่นอนจะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าเศรษฐกิจมหภาคที่เป็นบวกในปี 2024 จะส่งผลให้การค้าโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปได้หรือไม่
ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกก็ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการค้าโลกจากสงครามภาษีเช่นกัน นาย Ajay Banga ประธานธนาคารโลกกล่าวก่อนการประชุมฤดูใบไม้ผลิของ IMF และธนาคารโลกในสัปดาห์หน้า ณ กรุงวอชิงตัน ว่าความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตช้าลงกว่าที่คาดไว้และเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐฯ เพื่อขอลดภาษี โดย ยิ่งดำเนินการได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดี
นาย Ajay Banga กล่าวเสริมว่าประเทศกำลังพัฒนามักมีอัตราภาษีนำเข้าสูง และด้วยระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้หลายบริษัทจากประเทศอุตสาหกรรมย้ายโรงงานและตำแหน่งงานไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศอุตสาหกรรมไปประเทศกำลังพัฒนาและอัตราภาษีนำเข้าที่สูงเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ขัดขวางความเป็นอิสระและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เนื่องจากระบบนี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาการเป็นแค่ฐานการผลิตราคาถูก แทนที่จะได้พัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองให้แข็งแรงและยั่งยืน
WTO คาดการณ์ว่าด้วยมาตรการภาษีอาจเกิดการเปลี่ยนทิศทางทางการค้า เมื่อจีนต้องมองหาตลาดใหม่สำหรับสินค้าของตนแทนตลาดสหรัฐฯ โดยคาดว่าการส่งออกของจีนไปยังภูมิภาคนอกอเมริกาเหนือในปี 2025
จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 4% ถึง 9%
แม้ว่าการค้าบริการ (Services Trade) จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ WTO คาดการณ์ว่าการค้าบริการจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากภาษีนำเข้าที่สูงทำให้การค้าสินค้าลดลง เมื่อการค้าสินค้าลดลงทำให้ความต้องการของบริการที่เกี่ยวข้องลดลงด้วยเช่นกัน เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในวงกว้างจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนชะลอลง
WTO เป็นองค์กรที่มีบทบาทในการควบคุมกติกาการค้าโลก และเคยเป็นเวทีหลักในการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ แต่บทบาทขององค์กรได้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อกระแสโลกาภิวัตรเริ่มชะลอลง ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการภาษีอย่างไม่สนใจหลักประเทศที่ได้รับความเอื้อเฟื้อสูงสุด (most favored nation) ซึ่งเป็นรากฐานของระบบการค้าที่ WTO กำกับดูแล โดยหลักการนี้กำหนดว่าหากมีประเทศสมาชิกใดได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ประเทศอื่นๆ ก็ควรได้รับสิทธิเหล่านั้นเช่นกัน
จีนได้เรียกร้องให้ WTO ตรวจสอบผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยในคำแถลงต่อ WTO เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนระบุว่าภาษีต่างตอบแทนไม่ใช่ และจะไม่มีวันเป็นทางออกของปัญหาความไม่สมดุลทางการค้า ในทางตรงกันข้าม มาตรการนี้จะย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐฯ เอง
อ่านข่าวฉบับเต็ม : องค์การการค้าโลกเตือนมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย