หน้าแรกTrade insightทุเรียน > ทุเรียนไห่หนานเริ่มจำหน่ายในตลาดจีน ราคา 120 หยวนต่อกิโลกรัม

ทุเรียนไห่หนานเริ่มจำหน่ายในตลาดจีน ราคา 120 หยวนต่อกิโลกรัม

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 ได้เริ่มมีการเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ปลูกในสวนทุเรียนเขตนิเวศยวี่ฉาย (Yucai Ecological Area) เมืองซานย่า เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน และจัดจำหน่ายไปยังกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเซินเจิ้น โดยราคาจำหน่ายทุเรียนดังกล่าวต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 120 หยวน เนื่องจากยังมีปริมาณไม่มาก จึงเป็นการจำหน่ายให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ชิมรสชาติเท่านั้น

ปัจจุบัน เขตนิเวศยวี่ฉาย (Yucai Ecological Area) มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 5,042 ไร่ และคาดการณ์ว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ประมาณ 546 ไร่

นายตู้ ป่ายจง (Mr. Du Baizhong) เจ้าของสวนทุเรียนได้ให้ข้อมูลว่า ข้อได้เปรียบของทุเรียนไห่หนาน คือ การเก็บทุเรียนที่ “สุกบนต้น” ซึ่งสามารถรับรองเรื่องคุณภาพได้ โดยบริษัทมีแผนการก่อตั้งร้านจำหน่ายทุเรียนไห่หนานตามเมืองเอกในมณฑลต่างๆ ของจีน รวมทั้งช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์

เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ร้านค้าผลไม้บนเว็บไซต์ JD.com ได้จัดกิจกรรมจำหน่ายทุเรียนไห่หนานล่วงหน้า โดยราคาขายแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ราคา 188 หยวนต่อ 1.8-2.3 กิโลกรัม และราคา 358 หยวนต่อ 3.9-4.3 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วราคาอยู่ที่ประมาณ 80 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภครู้สึกดีใจที่ทุเรียนหนึ่งลูกมีเนื้อ 1.3-18 กิโลกรัม ผิวบาง และมีรสชาติดี

ประเทศจีนมีเพียงมณฑลไห่หนานที่สามารถปลูกทุเรียนได้ โดยทุเรียนในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนนำเข้า เมื่อเทียบกับปริมารการนำเข้าทุเรียนของจีนแล้ว ผลผลิตของทุเรียนไห่หนานยังนับว่าน้อยมาก กล่าวคือ ประเทศจีนบริโภคทุเรียนในปริมาณที่สูง โดยตั้งแต่ปี 2019 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนมีมากกว่าปริมาณการนำเข้าของเชอร์รีจากชิลี ซึ่งก่อนหน้านี้ เชอร์รีครองอันดับ 1 ของผลไม้นำเข้าของจีน ล่าสุดในปี 2022 ทุเรียนเป็นผลไม้นำเข้าที่มีปริมาณมากที่สุดของจีน อยู่ที่ 824,888 ตัน เพิ่มขึ้น 0.4% มูลค่าการนำเข้า 4,035 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% แบ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย 784,010 ตัน และจากเวียดนาม 40,878 ตัน

มณฑลไห่หนานตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเขตร้อน มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี แต่ยังมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน มณฑลไห่หนานมีพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทุเรียน นอกจากนี้ ทุเรียนเป็นผลไม้นำเข้าที่มีเงื่อนไขการเติบโตที่หลากหลาย ทั้งเรื่องแสงสว่าง ความร้อน อุณหภูมิ และความชื้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 25-30 องศา ความชื้นทางอากาศที่ 75-85% ซึ่งสภาพภูมิอากาศของมณฑลไห่หนานค่อนข้างเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว อย่างไรก็ดี หลังจากการวิจัยและทดลองปลูกทุเรียน พื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามเงื่อนไขข้างต้นนั้นอยู่บริเวณภาคกลางตอนใต้ของมณฑลไห่หนาน ซึ่งมีพื้นที่ที่จำกัด

นายเฝิง เสว๋เจ๋ (Mr. Feng Xuejie) ผู้อํานวยการสถาบันผลไม้เขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่ช่วยให้การบริโภคทุเรียนไห่หนานมีความแพร่หลาย คือ ราคาที่ต่ำและปริมาณที่มาก จึงจำเป็นต้องมีผลิตผลจำนวนมากเพื่อทำให้ราคาลดลง ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกทุเรียนของมณฑลไห่หนามีทั้งหมด 12,600 ไร่ หากเพิ่มเป็น 42,000 ไร่ จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี โดยจะให้ผลผลิตประมาณ 1 แสนกว่าตัน และหากเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 126,000 – 210,000 ไร่ มีความเป็นไปได้ว่าราคาจำหน่ายจะลดลงเป็น 20-40 หยวนต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้

ความเห็น สคต. ปัจจุบัน ประเทศจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดรวม 787,155 ตัน คิดเป็นมูลค่า 26,502 ล้านหยวน ประกอบด้วย

ประเทศ ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านหยวน) สัดส่วนปริมาณ
ไทย 600,690 20,776 76.31%
เวียดนาม 185,981 5,713 23.63%
ฟิลิปปินส์ 484 13 0.06%

โดยไทยยังเป็นประเทศส่งออกทุเรียนเป็นอันดับแรกของจีน ถึงแม้ว่าจะมีการเริ่มจำหน่ายทุเรียนไห่หนานในตลาดจีนแล้ว ก็ยังไม่มีผลกระทบต่อทุเรียนไทยมากนัก อย่างไรก็ดี เมื่อมองในระยะยาว ทุเรียนไห่หนาน ทุเรียนเวียดนาม และทุเรียนฟิลิปปินส์อาจกลายมาเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรรักษาคุณภาพของทุเรียนไทย รวมทั้งมองหาช่องทางและวิธีการต่างๆ ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุเรียนไทยยังคงอยู่ในความนิยมของผู้บริโภคจีนต่อไป ทั้งนี้ ทุเรียนไทยยังเป็นทุเรียนที่ชาวจีนนิยมมากที่สุดในขณะนี้

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

http://www.customs.gov.cn/ustoms.gov.cn

https://mp.weixin.qq.com/s/tJGF-IHlZMPz9_NoNuM31g

https://mp.weixin.qq.com/s/tkMPSWXtQcRLD70RlyHXkQ

Login