หน้าแรกTrade insightทุเรียน > ตลาดทุเรียนในประเทศเกาหลีใต้

ตลาดทุเรียนในประเทศเกาหลีใต้

ภาพรวมตลาด

เกาหลีใต้เป็นผู้นำเข้าผลไม้เขตร้อนหลากหลายชนิด และหนึ่งในนั้น ได้แก่ ทุเรียน ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนมายังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จาก 484 ตันในปี 2560 เป็น 1,783 ตันในปี 2564 โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม – กรกฏาคม) มีปริมาณการนำเข้าทั้งหมดอยู่ที่ 1,530 ตัน และมีมูลค่า 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

เกาหลีใต้นำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก โดยเป็นทุเรียนชนิดหมอนทอง การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ จะมีจากมาเลเซีย จีน และเวียดนาม ซึ่งทั้งสามประเทศปริมาณรวมกันประมาณ 10 กิโลกรัมต่อปี

  • สถานะการนำเข้าสินค้ามายังเกาหลีใต้
    • ทุเรียนสด (HSK 0810600000)

ระเบียบและขั้นตอนการนำเข้า

    • ผู้นำเข้าต้องผ่านการกักกันที่สำนักงานกักกันสัตว์และพืช ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพืช
    • อาหารหรือสารปรุงแต่งอาหารต้องรายงานต่อกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติพิเศษว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยอาหารนำเข้า
    • ผู้นำเข้าต้องระบุประเทศที่มาของสินค้านำเข้าบนบรรจุภัณฑ์
    • อัตราภาษีในการนำเข้าทุเรียน มีดังนี้

  • ขั้นตอนการนำเข้าทุเรียน
      • ทุเรียนทั้งชนิดสดและแช่แข็งต้องผ่านการตรวจและกักกันจากกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา และเมื่อผ่านการตรวจแล้ว ผู้นำเข้าจึงสามารถแจ้งนำเข้าได้
      • เอกสารที่ต้องใช้ เช่น B/L Invoice Packaging list เอกสารยืนยันการผลิต ฉลากภาษาเกาหลี ใบรับรองปลอดศัตรูพืช เป็นต้น

ช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า

  • ตลาดผลไม้ของเกาหลีใต้มีการจำหน่ายผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ และผ่านทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ของไฮเปอร์มาร์เก็ต Naver Coupang และ KakaoTalk Gift
    • ในปัจจุบัน สามารถบริโภคทุเรียนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการขยายช่องทางการค้า จากห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดท้องถิ่น มายังช่องทางออนไลน์ เช่น Coupang เป็นต้น
  • ในส่วนของห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต มีการจำหน่ายแบบเป็นลูก และเป็นแพคพร้อมรับประทาน ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดท้องถิ่นบางแห่ง จะมีการจำหน่ายทุเรียนแบบเป็นลูก ในส่วนของช่องทางออนไลน์ จะมีการจำหน่ายทุเรียนแบบเป็นลูก
  • บริษัทผลไม้นำเข้าได้จัดหาผลไม้ให้กับตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตและตลาดค้าส่ง (Wholesale market) ผ่านการควบคุมคุณภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็ก และยังใช้ Coupang และ Market Kurly สำหรับการจำหน่ายทางออนไลน์
  • แรงจูงใจในการซื้อผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ความสะดวกรวดเร็วในการรับสินค้า ความไว้วางใจในช่องทางออนไลน์ และผลกระทบต่อเนื่องจาก COVID-19 ที่ทำให้วิธีการดำรงชีวิตของชาวเกาหลีเปลี่ยนไป
  • มีแนวโน้มว่า ช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ผลไม้ที่จัดเป็นชุดของขวัญพร้อมส่ง ซึ่งมะม่วงจากไทยเป็นชุดของขวัญที่ชาวเกาหลีนิยมส่งให้กันในเทศกาลต่างๆ แต่ทุเรียนยังไม่ได้รับความนิยมถึงขั้นนั้น
  • นอกจากช่องทางจำหน่ายสินค้าข้างต้นแล้ว ในเกาหลีใต้ ยังมีการจำหน่ายทุเรียน ทางช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุคภาษาไทย ทั้งแบบแกะเป็นแพคและแบบเป็นลูก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้

ขั้นตอนการกระจายสินค้า

โอกาสสำหรับผู้ส่งออกทุเรียนไทยในตลาดเกาหลีใต้

สำหรับผู้บริโภคเกาหลีใต้ ความชอบต่อทุเรียนอาจแตกต่างกันไปตามบุคคล ทุเรียนยังไม่ใช่ผลไม้ที่ผู้บริโภคเกาหลีชื่นชอบและนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ ส่งผลให้ตลาดนำเข้ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ แต่ด้วยรสนิยมของผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น และจากคุณประโยชน์ของทุเรียนที่มีวิตามินซี ทำให้ผู้บริโภครับรู้ได้ว่าเป็นผลไม้ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ คาดว่าอาจะมีผู้สนใจในทุเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่มีชาวไทยและชาวเอเชียอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้จำนวนหนึ่ง กลุ่มผู้บริโภคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายศักยภาพสำหรับทุเรียนไทย

อย่างไงก็ดี จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในภูมิภาค (RCEP) ที่กำหนดให้จะทยอยยกเลิกภาษีนำเข้าทุเรียน ภายใน 10 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 คาดว่าจะช่วยขยายตลาดการบริโภคได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน การบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นสำหรับการบริโภคสด อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนานำไปใช้ในอาหารอื่น เช่น การพัฒนาเป็นวัตถุดิบสำหรับเบเกอรี่ต่างๆ ในอนาคต

ความเห็นสำนักงานฯ ปัจจุบัน ทุเรียนในเกาหลีใต้ยังถือว่าเป็นผลไม้ที่ยังไม่แพร่หลาย เมื่อเทียบกับผลไม้เขตร้อนชนิดอื่นในตลาดผลไม้ของเกาหลี เช่น มะม่วง ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติของทุเรียน จึงทำให้การบริโภคทุเรียนยังไม่มากหนัก แต่จากสถิติการนำเข้า เมื่อเทียบกันในแต่ละปี ทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโอกาสของผู้ส่งออกไทยนั้น ตลาดทุเรียนยังถือว่าสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต อีกทั้งในปัจจุบัน เกาหลีใต้ยังนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นหลัก จึงยังมีโอกาสที่จะขยายในตลาดเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้บริโภคเกาหลีส่วนใหญ่มักไม่คุ้นกับกลิ่นของทุเรียน หากมีการส่งออกทุเรียนในรูปแบบแห้งหรือแช่แข็งเพิ่มขึ้น ก็อาจจะเพิ่มขีดศักยภาพของสินค้าทุเรียนไทยในเกาหลีใต้ได้ต่อไป

******************************

ที่มา :

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

28 สิงหาคม 2566

Login