หน้าแรกTrade insightทุเรียน > คณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนจังหวัดจันทบุรี รวม 34 คน สำรวจโอกาสผลไม้ไทย ที่ตลาดผลไม้เจียงหนาน เมืองกวางโจว

คณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนจังหวัดจันทบุรี รวม 34 คน สำรวจโอกาสผลไม้ไทย ที่ตลาดผลไม้เจียงหนาน เมืองกวางโจว

เมื่อวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2566 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจวให้การต้อนรับคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนจังหวัดจันทบุรีเยี่ยมชมตลาดผลไม้เจียงหนานเมืองกวางโจว เพื่อติดตามสถานการณ์ผลไม้และสำรวจโอกาสผลไม้ไทยในตลาดจีน โดยคณะได้เยี่ยมชมแต่ละโซนของภายในตลาด ในระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากตลาดเจียงหนานได้อธิบายภาพรวมของตลาดและข้อมูลการนำเข้าผลไม้ ทั้งยังได้มีการพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์กับผู้บริหารตลาดค้าส่ง ค้าปลีกรวมถึงนำเข้าในตลาดเจียงหนานของเมืองกวางโจว ซึ่งระหว่างนั้นทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งออกผลไม้จากไทย ทั้งทางด้านโอกาสในการส่งออกผลไม้ และอุปสรรคและปัญหาในการส่งออก ซึ่งทางผู้ประกอบการในตลาดจีนกล่าวว่า ปัจจุบันผลไม้ไทยยังคงเป็นที่นิยมในตลาดจีน โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และมะพร้าวอ่อน ในขณะที่ลำไยมีเข้ามาจำหน่ายในตลาดเจียงหนานในปริมาณน้อย ในขณะเดียวกันผู้นำเข้าผลไม้จีนก็แจ้งว่า พบปัญหาคุณภาพสินค้าทุเรียนและมังคุดของไทย เช่น การเก็บเกี่ยวผลไม้ก่อนฤดูกาลประมาณ 70 % ทำให้คุณภาพของเนื้อผลไม้ไม่ดี และไม่สามารถรับประทานได้ จนทำให้เกิดการเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ผลไม้ไทย จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจต่อสินค้าผลไม้ไทย และหันไปบริโภคผลไม้ของประเทศคู่แข่งมากขึ้น ก็จะทำให้ไทยเสียสัดส่วนตลาดผลไม้ในจีน

ตลาดเจียงหนานเป็นตลาดค้าส่งผลไม้นำเข้าที่มีชื่อเสียงเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุด รวมถึงเป็นตลาดกระจายผลไม้ไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าผลไม้สูงที่สุดในจีน โดยภายในตลาดมีพื้นที่ค้าส่งผลไม้แบ่งเป็น 4 เขต ได้แก่ ผลไม้ภายในประเทศ ผลไม้ขึ้นชื่อภายในประเทศ ผลไม้นำเข้าจากยุโรป และผลไม้นำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศที่ส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดเจียงหนานมี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยปัจจุบันผลไม้ไทยเข้าตลาดเจียงหนานเฉลี่ยวันละ 100 ตู้/วัน สูงสุด 300 ตู้/วัน โดยเฉลี่ยมีผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดเจียงหนานวันละ 1,000 ตัน และในปริมาณทั้งหมดของผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น ผลไม้ไทยมีสัดส่วนเป็น 70 – 80% ปัจจุบัน ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยตลาดเจียงหนานมีจุดแข็งด้านทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการค้า ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเครือข่ายผู้ค้า/ลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศจีน จะเห็นได้ว่าตลาดเจียงหนาน เป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกของผลไม้ไทย อีกทั้งประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคผลไม้ต่อหัวสูง ติดอันดับดับโลก ดังนั้นตลาดจีนจึงเป็นตลาดเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าของสินค้าผลไม้ไทยได้

นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังได้เข้าพบรองกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว และฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว โดยได้บรรยายให้คณะฯ ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าส่งออกผลไม้ สถานการณ์การบริโภคผลไม้ในตลาดจีน กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย แนวทางในการแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ในจีน เช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย รวมถึงการเจรจาขอส่งออกผลไม้ชนิดอื่นๆ ไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนจังหวัดจันทบุรี ก็ได้รับทราบปัญหา เพื่อจะหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป เพื่อส่งเสริมให้สินค้าผลไม้ไทยเป็นที่นิยม และได้รับความมั่นใจจากผู้บริโภคจีน จนสามารถขยายการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

หลายปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของชาวจีน ทำให้ปริมาณความต้องการผลไม้ของจีนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจุบันชาวจีนได้หันมาใส่ใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานผลไม้ ซึ่งผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลไม้มากกว่าราคา อีกทั้งแม้ว่าตลาดการบริโภคผลไม้ของจีนจะมีขนาดใหญ่ และเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันตลาดผลไม้ของจีนก็มีการแข่งขันที่สูง

ดังนั้นผู้ประกอบการไทย ควรร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบคุณภาพผลไม้หลังจากเก็บเกี่ยวและโรงคัดบรรจุอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ ตลอดจนโลจิสติกส์ขนส่งผลไม้ ทั้ง เรือ รถ รถไฟ อากาศ ต้องควบคุมอุณหภูมิ คุมความเย็นให้ดี เพื่อที่จะสามารถรักษาคุณภาพผลไม้ให้สดใหม่จนถึงมือผู้บริโภคชาวจีน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดผลไม้ในจีนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดผลไม้จีน พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคแต่ละท้องถิ่นเชิงลึก เพื่อให้สามารถวางแผนและพัฒนาผลไม้ไทยให้เข้าถึงตลาดแต่ละกลุ่ม และส่งออกผลไม้ที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจีน จึงจะสามารถรักษาความเชื่อมั่นต่อผลไม้ไทยของผู้บริโภคชาวจีน และสามารถครองสัดส่วนตลาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login