หน้าแรกTrade insightทุเรียน > การจำหน่ายทุเรียนทางออนไลน์กำลังมาแรงในจีน

การจำหน่ายทุเรียนทางออนไลน์กำลังมาแรงในจีน

ในปี 2566 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสูงกว่าปีก่อนหน้าอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการไลฟ์สดจำหน่ายสินค้ากำลังมาแรงในจีน ซึ่งทุเรียนเป็นหัวข้อที่มีการค้นหามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในแพลตฟอร์มไลฟ์สดของจีน ซึ่งปัจจุบัน หากค้นหาคำว่า “ทุเรียน” บนแพลตฟอร์มไลฟ์สด จะมีกลุ่มพ่อค้าจีนจำหน่ายทุเรียนผ่านการไลฟ์สดเป็นจำนวนมาก ผลักดันให้จีนนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 50%

ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรของจีน ระบุว่า การนำเข้าทุเรียนของจีนในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 787,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.1% และ 64.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปี2565 ที่ผ่านมา จีนมีการนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน มูลค่า 4.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการนำเข้าทุเรียนของจีนจะเห็นได้ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จีนมีปริมาณนำเข้าทุเรียนเกือบเท่ากับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ตลาดทุเรียนในจีนยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากสถิติขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ในปี 2565 จีนเป็นผู้นำเข้าและผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยทุเรียนที่จีนนำเข้าคิดเป็น 82% ของการบริโภคทุเรียนทั่วโลก ปัจจุบันจีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่สัดส่วนของทุเรียนสดจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ยังต่ำกว่าไทยมาก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีนครองแชมป์ด้วยปริมาณการส่งออก 600,000 ตัน มากกว่า 3 เท่าของการส่งออกทุเรียนของเวียดนามที่ 186,000 ตัน ขณะที่ทุเรียนของฟิลิปปินส์ส่งออกไปยังจีนเพียง 484 ตัน โดยในด้านราคา ราคานำเข้าทุเรียนจากไทยสูงถึง 34.6 หยวน/กก. จากเวียดนามอยู่ที่ 30.7 หยวน/กก. และจากฟิลิปปินส์อยู่ที่ 26.7 หยวน/กก. ราคาทุเรียนตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2566 โดยรวมในตลาดจีนปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.8 จากปีที่แล้ว ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจาก 1. ความต้องการในการบริโภคทุเรียนของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.การจำหน่ายทุเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ส่งเสริมให้อัตราการจำหน่ายทุเรียนในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

ตามข้อมูลรายงานข่าวของจีน ระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จีน JD Fresh ในเครือ JD.com นอกจากจะมีการเหมาซื้อทุเรียนจากไทยแล้ว ยังได้มีการเจรจาความร่วมมือกับแหล่งผลิตในเวียดนามเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ในต้นปี 2566 ข้อตกลงการจัดจำหน่ายทุเรียน ซึ่งลงนามโดยบริษัท โดล ฟูด (Dole Food) ผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้นำทุเรียนฟิลิปปินส์ชุดแรกเข้าสู่ตลาดจีนและเตรียมเร่งขยายการส่งออกทุเรียนไปยังจีนเพิ่มขึ้น

เนื่องด้วยการบริโภคทุเรียนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจีน คาดว่าจะส่งผลให้ผู้นำเข้าจีนต่างแข่งขันกันนำเข้าทุเรียนจากหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งในระยะยาว อาจส่งผลต่อการส่งออกทุเรียนไทยได้

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบัน แม้ว่าทุเรียนของไทยจะยังคงครองตำแหน่งยอดขายอันดับหนึ่งในตลาดภายในประเทศ แต่การแข่งขันจากทุเรียนเวียดนามและทุเรียนฟิลิปปินส์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้นของทุเรียนเวียดนาม ทุเรียนไทยจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์และคุณภาพ ให้เป็นที่เชื่อมั่นในการบริโภคของผู้บริโภคในตลาดจีนต่อไป

นอกจากนี้ การร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้าด้วยระบบการจัดการซัพพลายเชนที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไทย ที่จะมีทางเลือกในการจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการส่งออกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากไทยมีการพัฒนาและขยายความร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ของจีนเพิ่มขึ้น คาดว่าในอนาคตจะสามารถลดต้นทุนในการขนส่งทุเรียนไปยังจีนได้มาก ทั้งยังสามารถผลักดันการจำหน่ายทุเรียนไทยให้ขยายตัวเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา : https://m.guojiguoshu.com/article/8504

ภาพ: https://www.cfbond.com/2023/08/15/991022533.html

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

16  สิงหาคม  2566

Login