เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายเยี่ยหลงถิง ประธานบริษัท Family Mart เชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในตลาดไต้หวัน รองจาก 7-Eleven ได้กล่าวถึงแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกไต้หวันในปี 2567 ว่า ผู้ประกอบการจะต้องติดตามแนวโน้มระยะยาวของตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันท่วงที โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกที่มีการแข่งขันสูง ยิ่งต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อ “สิ่งเร้า” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค
ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่น่าพอใจสำหรับ Family Mart ในไต้หวัน เพราะทั้งใน 3 ปัจจัยหลักที่ชี้วัดผลการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น “อิทธิพลที่มีต่อตลาดจาก Economic of Scale” “ผลประกอบการรายสาขาเมื่อเปรียบเทียบกับสองปีก่อนหน้า” และ “อัตรากำไรขั้นต้น” ต่างมีตัวเลขที่แสดงผลเป็นที่น่าพอใจ จำนวนสาขาของ Family Mart ในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มเป็น 4,234 แห่งทั่วไต้หวัน ในขณะที่ผลประกอบการต่อสาขาโดยเฉลี่ยก็สูงเป็นประวัติการณ์ และอัตรากำไรขั้นต้นก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในส่วนของสัดส่วนสินค้าภายในร้านที่สร้าง Differentiation ในตลาดให้กับ Family Mart ก็มีสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 33 แล้ว แสดงให้เห็นว่า แนวทางของบริษัทฯ เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีแนวโน้มในอนาคตที่ดี สำหรับในปี 2024 นายเยี่ยฯ เห็นว่า ปัญหาทางการเมืองทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น และนำมาซึ่งปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ตลอดเวลา สำหรับด้านเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อของไต้หวันในปี 2566 มีตัวเลขลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของตลาด อีกทั้งในส่วนของนโยบาย Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2593 โดยรัฐบาลไต้หวัน ที่จะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิด Greenflation (ภาวะเงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม) ที่จะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า Low-Carbon Economy จะเป็น Topic ที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นดี จึงถือเป็นอีกหนึ่งการบ้านสำคัญของเหล่าผู้ประกอบการในการคิดหาวิธีนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น และใส่ใจต่อรายละเอียดของสินค้ามากขึ้น เช่น ที่ผ่านมา น้ำเต้าหู้บรรจุขวดจะมีการแบ่งเพียง 3 แบบ คือ ไม่หวาน หวานน้อย และหวานธรรมดา แต่ในปัจจุบัน ยังมีการเพิ่มแคลเซียม หรือเพิ่มโปรตีนสำหรับผู้ที่ต้องการด้วย โดย Family Mart ได้มีการเปิดตัว Clean Label เพื่อเป็นตัวเลือกทางสุขภาพสำหรับผู้บริโภค โดยเน้นการขายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพแบบพร้อมรับประทานที่ลดการใส่สารปรุงรส ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค จึงถือเป็นอีกแนวโน้มในการบริโภคที่ Family Mart ให้ความสำคัญเช่นกัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันต้นทุนในการนำ AI และ IoT มาใช้งานได้ลดลงเป็นอย่างมาก จนทำให้ภาคธุรกิจสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น จึงช่วยให้สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จนทำให้เกิดแนวโน้มการบริโภคในแบบ D2C (Direct-to-Customer) ซึ่งจะเป็นการสร้างความได้เปรียบต่อร้านค้าจริงที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุดและตั้งอยู่ใกล้กับผู้บริโภคมากที่สุดด้วย ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้อง “ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง” ในการกำหนดแนวทางการบริหารงานเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของตัวเองต่อไป
ที่มา: United Daily News / Economic Daily News (February 15, 2567)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
ธุรกิจค้าปลีกในไต้หวัน โดยเฉพาะในส่วนของร้านสะดวกซื้อ มีการแข่งขันสูงมาก โดยไต้หวันมีความหนาแน่นของจำนวนร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้แต่ละแบรนด์ต่างต้องพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอสินค้า/บริการที่คู่แข่งไม่มี ส่งผลให้นอกจากซื้อสินค้าแล้ว ผู้บริโภคสามารถใช้บริการร้านสะดวกซื้อในด้านอื่นๆ เช่น เป็นจุดรับส่งสินค้าและชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การชำระค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจอดรถ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าบริการ ยกเว้นการเสียค่าปรับตามใบสั่งจราจร การเติมเงินในบัตรเงินสด การอัดรูป ถ่ายเอกสาร และซื้ออาหารกล่องเพื่อรับประทานทันที โดยทางร้านจะมีที่นั่งสำหรับให้ลูกค้ารับประทานอาหารในร้านได้ ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันมีความเกี่ยวพันและต้องพึ่งพาบริการของร้านสะดวกซื้อสูงมาก แนวโน้มที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างขีดความาสามารถในการแข่งขัน อันถือเป็นแนวคิดในการประกอบธุรกิจที่สำคัญที่สุด ปัจจุบัน ในตลาดไต้หวันมีแบรนด์ร้านสะดวกซื้อสำคัญ 4 ราย คือ 7-Eleven ที่มีสาขาในไต้หวันมากที่สุด (ประมาณ 6,600 สาขา) รองลงมาได้แก่ Family Mart (ประมาณ 4.200 สาขา) Hi-Life (ประมาณ 1,600 สาขา) และ OK Mart (ประมาณ 800 สาขา) อย่างไรก็ดี ในระยะหลังมานี้ Shopee แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในไต้หวันได้หันมาเน้นการตั้ง Shopee Shop เพื่อเป็นช่องทางในการรับส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้จำนวนของร้าน Shopee Shop มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,000 สาขาแล้ว ส่งผลให้การแข่งในธุรกิจดังกล่าวสูงยิ่งขึ้น
อ่านข่าวฉบับเต็ม : Family mart ในไต้หวันแนะผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยี AI ช่วยตอบสนองความต้องการผู้บริโภค