เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 เมษายน 2568) นาย Recep Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีตุรกี ได้กล่าวในการประชุมกลุ่มพรรค AK ในกรุงอังการา ถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการประกาศจัดเก็บภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ประกาศออกมา โดยเน้นย้ำถึงบทบาทที่ทวีความสำคัญมากขึ้นของตุรกีในเวทีโลกว่า นานาชาติเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีตุรกีเป็นส่วนหนึ่งของสมการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และแนวทางใดก็ตามที่ละเลยตุรกีไปจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือยั่งยืนได้ “บางครั้งด้วยความเต็มใจ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความจำเป็น” เขากล่าว
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวเตือนถึงผลกระทบที่ขยายวงกว้างของ “สงครามการค้า” ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยคาดการณ์ว่าการใช้มาตรการทางภาษีเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง และสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเปรียบเสมือนพายุที่จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและทุกคนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีตุรกียังแสดงความภาคภูมิใจที่ตุรกีก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ได้รับบทบาทจากมหาอำนาจอื่นๆ แต่เป็นผู้ที่สามารถกำหนดและขับเคลื่อนสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในภาคเศรษฐกิจ เขาได้แสดงความเชื่อมั่นว่า จากการที่ตุรกีอยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษี Reciprocal Tariff จากทางวอชิงตันในอัตราต่ำที่สุด (ร้อยละ 10) น่าจะช่วยให้ตุรกีสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าอีกหลายประเทศโดยส่วนใหญ่
คำกล่าวของประธานาธิบดีตุรกีดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของตุรกีต่อการประกาศจัดเก็บภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐอเมริกาที่ออกเป็นแถลงการณ์โดยนาย Omer Bolat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของตุรกีก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ตุรกีอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ โดยโดนเรียกเก็บเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 ซึ่งรัฐบาลตุรกีมองว่ากลายเป็นข้อได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของตุรกีเมื่อเทียบกับ ประเทศอื่นๆ ที่โดนเรียกเก็บเพิ่มในอัตราที่สูงกว่ามาก อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา เกาหลีใต้ และไทย รวมไปถึง อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ และสหภาพยุโรป และรัฐบาลตุรกีจะใช้แนวทางการเจรจา เพื่อขอยกเลิกหรือลดอัตราภาษีที่โดนเรียกเก็บเพิ่มขึ้นนี้ ทั้งนี้ ตุรกีมีแผนการที่จะเพิ่มความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อยู่แล้ว ตามนโยบาย “Far Countries Strategy” ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในหลายภาคอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งอย่างเช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกล เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค้าทางการค้าระหว่างกันให้ได้ถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของตุรกีมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2568
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของตุรกี ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวมทั้งสิ้นกว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตุรกีเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของตุรกีไปยังสหรัฐฯ อาทิ เครื่องจักร อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
จนถึงขณะนี้ ผู้ประกอบการในตุรกียังไม่ค่อยแสดงท่าทีในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากน่าจะอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์และรอดูท่าทีของประเทศอื่นๆ ต่อนโยบายของสหรัฐฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ค้าสำคัญของตุรกีอย่างกลุ่มประเทศยุโรป โดยตามแถลงการณ์ของรัฐบาลที่พยายามชี้ให้เห็นว่าตุรกีน่าจะสามารถเจรจาได้ และอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ซึ่งตุรกีอาจจะได้รับประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรมหากมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นเข้ามาลงทุนในตุรกีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากตุรกีสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบนี้และสามารถขยายการผลิตและการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้จริง ไทยก็อาจพิจารณาแนวทางการผลักดันการส่งออกสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าที่สนับสนุนการผลิตของตุรกี หรืออาจส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความเข้มแข็ง และใช้ตุรกีเป็นช่องทางในการขยายตลาดทั้งในสหรัฐฯ และภูมิภาคใกล้เคียงต่อไป
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตุรกีไม่หวั่นภาษีทรัมป์ มองเป็นโอกาส