ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จีนได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีนและฮ่องกงเป็นประเทศปลายทางส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว การห้ามนำเข้าครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารทะเล ซึ่งย่อมกระทบต่อนโยบายการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
จากการแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ประณามการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วของญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้าการปล่อยน้ำของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้น จีนได้ห้ามการนำเข้าอาหารเกือบทั้งหมดซึ่งรวมอาหารทะเลด้วยจาก 10 จังหวัด เช่น จังหวัดฟุกุชิมะ มิยางิ และกรุงโตเกียว ฯลฯ
เมื่อเดือนกรกฎาคม จีนได้เริ่มตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด ทำให้มีจำนวนสินค้าค้างด่านศุลกากรเพิ่มมากขึ้น การส่งออกอาหารทะเลสดไปประเทศจีนจึงหยุดชะงัก ศุลกากรจีนได้รายงานว่า เดือนกรกฎาคมมีสินค้าปลาและอาหารทะเลอื่นๆนำเข้าประมาณ 4,600 ล้านเยน (ประมาณ 1,100 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าปลาสดลดลงร้อยละ 53 จากเดือนที่แล้ว และสินค้าที่สามารถเก็บรักษาได้ระยะหนึ่ง เช่น อาหารทะเลแช่แข็งลดลงร้อยละ 13
บริษัทแปรรูปหอยโฮตาเตะ (หอยเชลล์) ในจังหวัดฮอกไกโดกังวลถึงระยะเวลาการห้ามนำเข้าว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ในปี 2565 บริษัทส่งออกสินค้าหอยโฮตาเตะติดเปลือกไปประเทศจีนปีละ 1,000 ตัน แต่สำหรับปี 2566 นี้ เพิ่งส่งออกไปได้เพียง 250 ตัน ด้านนายยาสุโทชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ได้กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “หากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจะบริหารจัดการใช้เงินกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมเงินกองทุนจำนวน 30,000 ล้านเยน (ประมาณ 7,200 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลที่ลดลง
สำหรับฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัด และได้ขยายเพิ่มประเภทสินค้าอาหารที่ต้องได้รับการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีอีก และมาเก๊าได้ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นกัน หากรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของญี่ปุ่นไปประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊าแล้วเท่ากับร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวทั้งหมด และหากรวมมูลค่าการส่งออกไปเกาหลีใต้และไต้หวันที่มีการจำกัดการนำเข้าอยู่แล้วจะเท่ากับกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเล
แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของญี่ปุ่นไปประเทศจีนที่ลดลง จะไม่กระทบการส่งออกสินค้าไปประเทศจีนเพราะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีนทั้งหมด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลในปี 2568 (ค.ศ. 2025) เท่ากับ 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) และในปี 2573 (ค.ศ. 2030) เท่ากับ 5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเล และประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญจึงย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการที่ประเทศจีนห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ทำให้ราคาเป๋าฮื้อในตลาดปลาในจังหวัดมิยางิบางแห่งลดลงประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ ราคาหอยโฮตาเตะก็มีแนวโน้มลดลง และสินค้าเอ็นหอยแช่แข็งที่ส่งออกตางประเทศก็มีปริมาณลดลงอย่างมาก บริษัทแปรรูอาหารอย่างเป๋าฮื้อและปลิงทะเลตากแห้งซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศจีนได้ลดประมาณการผลิตลงร้อยละ 40 เพราะคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ
จากการที่ไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตของการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปประเทศจีนได้ จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ราคาสินค้าอาหารทะเลได้ด้วยเช่นกัน มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องเริ่มเรียกร้องให้ช่วยเหลือในการหาประเทศส่งออกอื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้ประกาศจัดตั้งช่องทางให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ JTERO และ Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, JAPAN
เจ้าหน้าที่บริษัท PWC ซึ่งเป็นบริษัท consult ให้ความเห็นว่า “การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเล เป็นการสนับสนุนรากฐานการผลิตภายในประเทศซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ดังนั้น นอกจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงแล้ว กระทรวงอื่นๆจึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ด้วย”
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
นโยบายการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลญี่ปุ่นของรัฐบาลจีนส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลและนโยบายการส่งออกของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างมาก ตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โดยมูลค่าส่งออกระหว่างเดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ USD 538,360,694 ซึ่งหอยโฮตาเตะ (หอยเชลล์) ในปี 2564 – 2565 มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 การห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นจึงอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจีน นอกจากประเทศจีนแล้ว ฮ่องกงและมาเก๊าก็มีมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ผู้ประกอบการจากประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องหาแหล่งนำเข้าใหม่เพื่อชดเชยการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอันดับ 5 ของการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น สินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่นจึงอาจได้รับผลกระทบด้วยก็เป็นได้
ฉบับที่ 48 ประจำวันที่ 26 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.nikkei.com/article/DGKKZO73874820V20C23A8EA2000/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)