หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ⛴✈️🌏📊

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ⛴✈️🌏📊

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 🚢✈️📊🌏
.
          การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณกาiเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 มีปัจจัยสำคัญจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในสหรัฐฯ และส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลับมาแตะเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 2.59 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 2.87 สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.16
.
📊 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่
.
1 – สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์
มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 
2 – สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 
3 – สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก โดยหลายสินค้าเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตส่วนใหญ่ของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ
ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียน (5) ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป (15) เอเชียใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส
.
📊 มูลค่าการค้ารวม
💰🇺🇸 มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ 
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.99 ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 1.16 การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.77 ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
💰🇹🇭 มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท 
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 601,507.35 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.87 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 610,035.50 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.39 ดุลการค้าขาดดุล 8,528.15 ล้านบาท ส่งผลให้ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,188,881.30 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.04 การนำเข้า มีมูลค่า 1,211,933.26 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 5.85 ขาดดุล 23,051.96 ล้านบาท
.
📊 แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 
          การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น (2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 4 (2) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ร้อยละ 6.64) สินค้านิวนอร์มอล (ร้อยละ 6.81) อุตสาหกรรมหนัก (ร้อยละ 3.76) แฟชั่น (ร้อยละ 2.36) เป็นต้น (3) จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
.
💾🔽 ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าว ได้ที่
http://www.tpso.moc.go.th/th/node/10978

Login