หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > Forward SG วิสัยทัศน์ใหม่ของสิงคโปร์

Forward SG วิสัยทัศน์ใหม่ของสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ประกาศแผนงานเพื่อเป็นแนวทางในการก้าวไปข้างหน้าของสิงคโปร์ (Forward SG) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 7 ประการ ในแง่มุมของสังคม ผ่านนโยบายต่าง ๆ ดังนี้

  1. การให้ความช่วยเหลือครอบครัวในทุกช่วงวัยของชีวิต หรือการให้ความมั่นใจแก่ชาวสิงคโปร์ตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิต เติบโต หรือการเลี้ยงดูครอบครัว และช่วยให้ชีวิตมีความสมดุลระหว่างงานและครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับพ่อแม่รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง และการขยายศูนย์ดูแลทารกและสถานบริการรับเลี้ยงเด็ก ผ่านการสนับสนุนความอยู่ดีมีสุขทางจิตใจและความสอดคล้องในชีวิตและการทำงานของชาวสิงคโปร์ผ่านชุดแนวทางไตรภาคีเกี่ยวกับการเตรียมการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2567 และผ่านยุทธศาสตร์สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีแห่งชาติ(National Mental Health and Well-being Strategy) และจะมีการสนับสนุนผู้ดูแล โดยการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการบริการ การศึกษา และการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับครอบครัวที่มีเด็กที่มีความต้องการด้านพัฒนาการและการศึกษาพิเศษ
  2. การเคารพและให้รางวัลทุกงาน หรือการลดช่องว่างค่าจ้างสำหรับงานประเภทลงมือปฏิบัติ หรืองานที่ต้องใส่ใจในรายละเอียด เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างประปา กลุ่มคนทำงานในกลุ่มดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนเพื่อช่วยคนว่างงานให้กลับมายืนได้อีกครั้ง หรือการสนับสนุนผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการแนะแนวอาชีพ รัฐบาลจะทำงานร่วมกับนายจ้างและสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อบ่มเพาะผู้มีความสามารถในประเทศให้เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้นำในสาขานั้นๆ โดยเฉพาะในบทบาทระดับภูมิภาคในบริษัทข้ามชาติ
  3. การเรียนรู้ที่มากกว่าเกรดเฉลี่ย เพื่อให้ชาวสิงคโปร์แสวงหาการเรียนรู้ตลอดชีวิตแทนการเรียนเพื่อมุ่งหวังคะแนนสอบ เน้นให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมโดยเปลี่ยนรูปแบบการสอนไปเป็นแบบ Full Subject-Based Banding (การจัดการเรียนในแต่ละรายวิชาตามผลการเรียนของนักเรียน) สำหรับโรงเรียนมัธยม ในปี 2567 ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคนที่มีพื้นฐานการเรียนแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านโครงการ SkillsFuture ที่จะยกระดับให้ชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในช่วงการทำงานระยะกลางสามารถเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะใหม่ หรือยกระดับทักษะที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน
  4. การเพิ่มศักยภาพให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ด้วยการเพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับการเข้าถึงสถานบริการรับเลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวตามระดับรายได้ นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนพิการ และสร้างสภาพแวดล้อมให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และทำงานร่วมกับพันธมิตรในชุมชนเพื่อให้การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ครอบครัวเหล่านี้มีความก้าวหน้า
  5. การช่วยผู้สูงอายุให้มีอายุอย่างมีสุข ประชากรสิงคโปร์เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีโครงการต่าง ๆ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เช่น Healthier SG และ Age Well SG รัฐบาลสิงคโปร์จะขยายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
    มากขึ้น และเพิ่มตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่ผสมผสานข้อกำหนดในการดูแล นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการปรับปรุงระบบการรักษา พยาบาลครั้งใหญ่ และการปรับปรุงโครงการสวัสดิการเกี่ยวกับผู้สูงอายุต่าง ๆ เช่น การออม การเกษียณอายุ การส่งเสริมวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดีขึ้น เป็นต้น
  6. การลงทุนทรัพยากรสาธารณะมากขึ้นในอนาคต สิงคโปร์สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตด้วยการดูแลทรัพยากรที่จำกัดอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน รวมไปถึงการปรับปรุงที่ดินและทรัพยากร การเสริมความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ และมีความรอบคอบและรับผิดชอบทางการคลัง
  7. ชาวสิงคโปร์ทำหน้าที่ของตนในฐานะประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว รายงานระบุว่า ความแข็งแกร่งของสังคมสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับความสามัคคี และวิธีที่ผู้คนเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยเชื่อมโยงผู้บริจาคและอาสาสมัครเข้ากับความต้องการของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

แผนงาน Forward SG แสดงให้เห็นถึงทิศทางในอนาคตของสิงคโปร์ที่สังคมจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนและดูแลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ และการพัฒนาวางรากฐานของประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองตลาดที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login