หน้าแรกTrade insightข้าว > Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์

Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก โดยในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลกรวม 744,433.46 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 คือ ข้าว มีมูลค่า 182,081.67 ล้านบาท (24.45%) หนึ่งในข้าวที่ไทยมีชื่อเสียงในการผลิตคือข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพ และปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์ปริมาณ 16,500 ตัน และคาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถผลิตได้ 247,000 ตัน อย่างไรก็ตาม การค้าสินค้าเกษตรมักประสบปัญหาความผันผวนของปริมาณผลผลิตจากปัจจัยภายนอกหลายประการ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากการไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย ที่ขาดเทคโนโลยีขั้นสูงในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปัญหาสำคัญด้านความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าเกษตร นำไปสู่ปัญหาด้านราคาและการกีดกันทางการค้า เนื่องจากมีการปลอมปนสินค้าและสวมสิทธิเอกสารมาตรฐานหรือใบอนุญาต ที่ไม่สามารถตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เล็งเห็นว่าคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบจะช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อปลายน้ำได้ สนค. จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร โดยขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้เลือกข้าวอินทรีย์เป็นสินค้านำร่อง เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง มีศักยภาพการส่งออก และมีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัล เพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์ และสร้างอำนาจต่อรองทางราคาให้กับเกษตรกรต้นน้ำ ตลอดจนเป็นการยกระดับระบบการค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ยังเป็นโอกาสในอนาคตที่จะประยุกต์ใช้ระบบ Blockchain กับการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (Food Agriculture) รวมทั้ง อาหารแห่งอนาคต (Food for the future) ที่อยู่ภายใต้กระแสเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ศักยภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์) ของไทย

  • ศักยภาพข้าวอินทรีย์ในตลาดโลก

ข้าวอินทรีย์ถือเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านการส่งออกของไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเกษตรกรรมอินทรีย์ (The Research Institute of Organic Agriculture: FiBL) และสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements: IFOAM) พบว่าในปี 2560 ไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นลำดับที่ 7 ของเอเชีย และลำดับที่ 51 ของโลก ด้วยพื้นที่ขนาด 570,409 ไร่ สามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ 1,817 ล้านบาท/ปี โดยพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ คิดเป็นสัดส่วน 59% ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ในปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์มีมูลค่า 750 ล้านบาท แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.098% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทย แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ 0.41% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทย

  • มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์)

เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดขั้นต่ำที่เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้หน่วยงานรับรองมาตรฐานใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมิน โดยระบุแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดที่จะตรวจประเมินรับรองอย่างละเอียดชัดเจน ทั้งวิธีปฏิบัติและข้อห้าม ครอบคลุมสำหรับเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการในตลาดเมล็ดพันธุ์ ในธุรกิจแปรรูป และกระบวนการขนส่ง โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น การจัดการฟาร์มโดยรวม ระบบนิเวศการเกษตร การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ การผลิตพืชอินทรีย์ การจัดการดินและธาตุอาหาร การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การป้องกันมลพิษและการปนเปื้อน และการแปรรูปและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น จึงมีความเหมาะสมที่จะนำแนวทางการปฏิบัติที่มีแบบแผนชัดเจนและเป็นระบบของการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาปรับรูปแบบสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยี Blockchain

ทั้งนี้ ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมากมายหลายมาตรฐาน ทั้งระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ และแต่ละตรารับรองจะกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานที่มีความเข้มงวดต่างกัน ดังนั้น การเลือกขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผู้ผลิตสินการเกษตรอินทรีย์จึงควรเลือกใช้ตรารับรองในระดับที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าในประเทศปลายทาง

จุดเด่นและประโยชน์ของ Blockchain กับการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์

  • จุดเด่นของ Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain เป็นโอกาสในการยกระดับกระบวนการและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าของประเทศไทย ไปสู่การค้าบนระบบเศรษฐกิจการค้าสมัยใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain มีลักษณะการทำงานที่เป็นระบบการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledger) ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนกลาง สามารถดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติผ่านเงื่อนไข Smart Contract ซึ่งการเป็นระบบอัตโนมัติจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวง ป้องกันการแก้ไขข้อมูลและปลอมแปลงข้อมูล และป้องกันการเกิดข้อพิพาทระหว่างกันได้มากขึ้น จึงสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย อาทิ การเงิน การค้า และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

จึงอาจกล่าวได้ว่า Blockchain เป็น Internet of Value สามารถส่งต่อคุณค่าและความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ผ่านระบบ Blockchain ซึ่งแตกต่างจาก Internet ในปัจจุบันที่เป็น Internet of Information โดยสามารถส่งต่อได้เพียงข้อมูลเท่านั้น Blockchain จึงช่วยยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับและการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลให้มีความโปร่งใส ปลอดภัย และเชื่อถือได้

  • ประโยชน์ของ Blockchain กับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์

​               ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์  เมื่อสินค้ามีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อ การปลอมปนสินค้า และการถูกสวมสิทธิใบอนุญาต ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางราคา ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออก สำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออก

               ตอบสนองความต้องการข้องผู้ซื้อ (Demand)  พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ก่อให้เกิดกระแสรักสุขภาพและอาหารปลอดภัยซึ่งกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่จะนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อสินค้าเกษตร (Demand) ที่อยู่ปลายน้ำให้สามารถทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการทางการผลิตและแปรรูปต่างๆ ผ่านระบบที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

การต่อยอดเพื่อยกระดับการค้า

สนค. มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนโครงการ Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์ ให้เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของระบบการผลิตและการค้าสินค้าข้าวอินทรีย์ และต่อยอดไปยังสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ ในระยะยาวควรมีการเชื่อมโยงกับระบบการค้าส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และระบบการขอใบรับรองหรือใบอนุญาตอื่นๆ เพื่อเป็นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า ให้สามารถอำนวยความสะดวกทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนทางการค้า สร้างความน่าเชื่อถือและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าจากการมีมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้ นำไปสู่การขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถในการสร้างผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และมีความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม การยกระดับระบบการค้าของประเทศจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการและการมีร่วมจากทุกที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐาน และหน่วยงานวิชาการ

อ้างอิง :

– การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยเรียงตามมูลค่า คลิกที่นี่

– ไทยผลิตเกษตรอินทรีย์รั้งอันดับ7 ของเอเชีย เร่งพัฒนาเพิ่มพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ คลิกที่นี่

ผู้เขียน:

นางศุจิรัตน์ สิทธิโรจน์  นักวิชาการพาณิชย์ปฏิบัติการ (กองนโยบายระบบการค้า)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login