หน้าแรกTrade insightมันสำปะหลัง > วิเคราะห์สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง

วิเคราะห์สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง

        โรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus ในปี 2559 พบการระบาดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชา คือ สายพันธุ์ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) สำหรับประเทศไทย ปี 2561 กรมวิชาการเกษตรรายงานพบโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาด ในจังหวัดปราจีนบุรี สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ และได้ดำเนินการกำจัดเรียบร้อยแล้ว ต่อมาปี 2562 พบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่างที่จังหวัดสระแก้ว ดังนั้น จึงควรติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของ โรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการต้องสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร การแพร่ระบาดสามารถแพร่ระบาดได้โดยท่อนพันธุ์และแมลงหวี่ขาวยาสูบ (Bemisia tabaci) หากระบาดรุนแรงสามารถสร้างความเสียหายทำให้ผลผลิตมันสำปะหลัง ลดลงได้มากถึงร้อยละ 80 – 100 ลักษณะอาการพืชแสดงอาการใบด่าง เหลือง ใบลดรูป และเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกร็น ไม่มีการเจริญเติบโต หรือมีการเจริญเติบโตน้อย

สถานการณ์และประมาณการมูลค่าความเสียหายปี 2563         กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานสถานการณ์ใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ 29 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ระยอง ลพบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรวม 4,912,866 ไร่ และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคใบด่าง จำนวน 352,095 ไร่ (ตารางที่ 1) ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ศกช.) ได้ติดตามสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่าหากเกิด การระบาดของโรคดังกล่าวรุนแรงจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลัง โดยผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 80 – 100 (ข้อมูลกรมวิชาการเกษตร) ทั้งนี้ ศกช. ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยประมาณการมูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ดังกล่าว ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระบาด 25 จังหวัด พบว่า ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังเสียหาย (ร้อยละ 80) ปริมาณ 905,589 ตัน คาดว่ามีมูลค่าความเสียหาย 1,712 ล้านบาท และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังเสียหาย (ร้อยละ 100) ปริมาณ 1,131,986 ตัน คาดว่ามีมูลค่าความเสียหาย 2,139 ล้านบาท (ตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 ปริมาณและมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่สูงสุด 10 จังหวัด

ลำดับจังหวัดพื้นที่ยืนต้นพื้นที่ทำลายแล้วพื้นที่ระบาดสะสมผลผลิตเสียหาย(ตัน)มูลค่าความเสียหาย (ล้านบาท)
(ไร่)(ไร่)(ไร่)ลดลง 80%ลดลง 100%ลดลง 80%ลดลง 100%
1นครราชสีมา1,254,50538,136280,390.00725,425.00906,781.251,284.001,605.00
2สระแก้ว356,50643,79248,960.75122,597.72153,247.16221.90277.38
3บุรีรัมย์227,3317,66025,923.5077,853.4697,316.82140.91176.14
4สุรินทร์77,5717,61315,075.0044,416.9855,521.2285.28106.60
5ปราจีนบุรี53,6302,20212,351.5031,758.1839,697.7258.1272.65
6ศรีสะเกษ64,5126,4156,551.7517,107.9321,384.9130.1137.64
7ฉะเชิงเทรา80,2241,7935,846.0017,023.5521,279.4431.3239.15
8ลำปาง39,0263,1273,127.007,852.529,815.6515.1618.94
9อุบลราชธานี476,5507032,560.507,114.098,892.6213.6617.07
10สุพรรณบุรี71,4791411,438.253,494.374,367.976.718.39

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร, ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 คำนวณโดย ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ

          ข้อเสนอแนะและการให้ความช่วยเหลือ

1.    ควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้น เนื่องจากหากเกิดโรคใบด่างในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังสูงมากถึงร้อยละ 80-100  

2.  ในกรณีที่เกิดความเสียหาย ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เช่น
การสนับสนุนท่อนพันธุ์ปลูกใหม่ การสนับสนุนศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน) หรือสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์
ให้เกษตรกรผลิตขยายเพิ่มปริมาณ เพื่อช่วยลดปริมาณพาหะของโรค

3.  กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/เกษตรกร
ให้ทราบถึงวิธีการจัดการโรคใบด่างในมันสำปะหลังที่เหมาะสม เช่น การทำลายแปลงมันสำปะหลังที่เกิดโรคเพื่อเป็นการยับยั้งการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นต้น

4.    เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

*****************************

Login