หน้าแรกTrade insight > แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทย : กรณีศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทย : กรณีศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น

          ประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีรากเหง้าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับการทำเกษตรกรรมสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอดีตกาล มีการเพาะปลูกและค้าขายสินค้าเกษตรมาตั้งสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นยุคที่การค้าขายภายในประเทศมีความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนมีความสุข ดังคำบันทึกในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า “…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…”

          ดังนั้น เศรษฐกิจการค้าในประเทศ (Local Economy) จึงเกิดขึ้นในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยที่คนในชุมชนและท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยอาศัยการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่แต่ละครอบครัว หรือแต่ละบ้านผลิตหรือจัดหามา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนาและการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านการค้า ซึ่งมีที่มาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากคนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นนั่นเอง

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จึงเลือกศึกษารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยต่อไป อันจะนำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจาก ญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบสำคัญของโลกในด้านการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น (Decentralization) โดยทั้ง 47 จังหวัด (Prefectures) มีรัฐบาลท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและออกแบบนโยบายสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น อันเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง โดยมีกรณีศึกษาการดำเนินนโยบายสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนที่น่าสนใจ ได้แก่

               1) นโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาคของญี่ปุ่น (Regional Revitalization)

               2) การพัฒนาจังหวัดโอกินาวา (Okinawa) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการจัดเก็บรายได้จากภาษีท้องถิ่น (Local Taxes) ได้น้อยที่สุด

               3) การพัฒนาระบบภาษีท้องถิ่น โดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC) ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกแบบโปรแกรม การจัดเก็บภาษีบ้านเกิด (The Furusato Nozei Program, or Hometown Tax Donation Program)

          โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มีข้อเสนอแนะจากการศึกษาดังกล่าวที่กระทรวงพาณิชย์ อาจกำหนดเป็นมาตรการหรือนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศในระยะต่อไปให้เกิดความยั่งยืน และช่วยลดภาระให้กับงบประมาณแผ่นดิน ดังนี้

               1. การจัดทำแผนหรือโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดในจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ ตาก และบุรีรัมย์ อย่างเร่งด่วน โดยเน้นการวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละจังหวัด เพื่อนำเสนอจุดเด่นของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ และหาแนวทางพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

               2. การหารือแนวทางการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีของจังหวัดหรือท้องถิ่นร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย โดยใช้แนวทาง Hometown Tax หรือภาษีบ้านเกิด ที่ส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีมีการบริจาคเงินภาษีไปยังจังหวัดหรือท้องถิ่นที่ต้องการ หรือเป็นจังหวัดบ้านเกิดของตน โดยใช้ประโยชน์จากสินค้า GI ของแต่ละจังหวัด เพื่อจัดสรรให้เป็นของขวัญหรือของที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเงินภาษีนั้นๆ

               3. การบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการค้า (Big Data และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ Policy Dashboard ด้านบริหารจัดการสินค้าเกษตร โดยบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำกับดูแล ติดตามด้านการผลิต ความต้องการ และราคา ทำให้สามารถบริหารจัดการลดความเสี่ยงผลผลิตล้นตลาด รวมทั้ง เตือนภัยสถานการณ์สินค้าเกษตรด้านต่างๆ นอกจากนี้ อาจมีการพิจารณาให้บุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูล Big Data ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจัดกิจกรรมประกวดการออกแบบนโยบายด้านส่งเสริมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Trade Policy Idea Contest)

Login