หน้าแรกTrade insight > เบร็กซิต (BREXIT) คืออะไร?

เบร็กซิต (BREXIT) คืออะไร?

” พาณิชย์ติดตาม Brexit ใกล้ชิด มั่นใจระยะสั้นยังไม่กระทบไทย แต่ระยะยาวต้องเตรียมตัว “
.
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด โดยพบว่า ในชั้นนี้ ความเปลี่ยนแปลงน่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด โดยในภาพรวม Brexit เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ การเกินบัญชีดุลสะพัดสูง ซึ่งจะทำให้รับมือกับความผันผวนภายนอกได้ดี
.
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน โดยการส่งออกไป UK และ EU หดตัวในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 แต่เป็นเพราะปัจจัยรายสินค้ามากกว่า Brexit อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ที่ส่งออกไปยุโรปลดลง เนื่องจากค่ายรถยนต์ย้ายฐานไปผลิตในยุโรปมากขึ้น และคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการหดตัวตามวัฏจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
.
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นที่ สนค. ให้ความสำคัญในการติดตามคือ หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูยังยืดเยื้อออกไปนาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่สินค้าไทยต้องปฏิบัติตามหรือไม่ อย่างไร เช่น โควตานำเข้าสินค้าเกษตรที่อังกฤษนำเข้าอยู่ภายใต้ปริมาณที่ไทยตกลงกับอียู (โควตาภาษีหรือ tariff quota) และอัตราภาษีศุลกากรจะใช้อัตราภายใน/นอกโควตาต่อไปหรือไม่ รวมทั้งสินค้าไทยที่ขึ้นท่าในอียูก่อนไปอังกฤษจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เสียภาษีอย่างไร
.
“ดิฉันได้รับแจ้งว่า รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาช่วยดูแลไม่ให้การค้าระหว่างประเทศกับประเทศใด ๆ ได้รับผลกระทบในระยะสั้น โดยได้เตรียมแผนรับมือ (contingency plan)
ไว้แล้วสำหรับสินค้าที่อังกฤษนำเข้าผ่านท่าในอียู เพื่อป้องกันปัญหาการสับสนที่พรมแดนหากเกิดกรณี
Hard Brexit หรือ No Deal Brexit สำหรับโควตาสินค้าเกษตรและอัตราภาษีใน/นอกโควตา รัฐบาลอังกฤษ
จะยังคงใช้ปริมาณและอัตราเดิมเหมือนกับที่อยู่ภายใต้อียูไปก่อน จนกว่าจะมีข้อตกลงกับอียู โดยหลังจาก Brexit มีความชัดเจนขึ้น รัฐบาลอังกฤษจะจัดทำแผนปรับตัว (transition plan) อย่างน้อยสำหรับ 2 ปีข้างหน้าร่วมกับภาคเอกชนอังกฤษต่อไป ดังนั้น คาดว่าในระยะสั้น การส่งออกไทยไปอังกฤษจะยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรงมาก แต่ระยะยาว ไทยอาจจะต้องเร่งเตรียมตัวเจรจา FTA กับทั้งอังกฤษและอียู เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ มีความชัดเจนและเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไทยมากที่สุด
.
อีกประเด็นที่ผู้ส่งออกน่าจะต้องพิจารณาคือ ปัจจุบันเราส่งออกไปอังกฤษผ่านท่าเรือที่เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสจำนวนมาก เนื่องจากท่าเรืออังกฤษเล็กกว่า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาหาร ถ้าเกิดเขาแยกกฎระเบียบออกจากกัน ใช้ภาษีและมีเงื่อนไขโควตาต่างกัน ไทยอาจจะต้องส่งออกไปอังกฤษโดยตรงมากขึ้น ในระยะนี้เราน่าจะศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์รวมทั้งหา partner นำเข้าใหม่ที่อังกฤษเตรียมไว้ด้วย” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว
.
ทั้งนี้ สำหรับสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี สินค้าไทยจะเสียภาษีศุลกากรในอัตรา MFN ภายใต้ข้อผูกพันใน WTO เนื่องจากไทยกับอียูและอังกฤษ ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน
.
การส่งออกไทยไปสหราชอาณาจักร มีสัดส่วน 1.6% ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัว 5.98% ในปี 2560 และหดตัวเล็กน้อยที่ 0.45% ในปี 2561 ส่วนการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (ไม่รวม UK) คิดเป็น 8.3% ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัว 8.36% ในปี 2560 ขณะที่ในปี 2561 ชะลอตัวเล็กน้อย แต่ยังขยายตัวได้อยู่ที่ 6.31% สหราชอาณาจักรนับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ แต่เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองท่า จึงมีตัวเลขนำเข้าสูง ส่วนอังกฤษเป็นตลาดที่บริโภคสินค้าไทยจริง จึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง
.
————————————————
แนวทางการรับมือของกระทรวงพาณิชย์
————————————————
.
• ประเทศไทยควรติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด และเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับ UK และ EU ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือในช่วงเปลี่ยนผ่าน และสร้างโอกาสทางธุรกิจ
.
• ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไทยควรเตรียมการเจรจาพันธกรณีและแนวทางการจัดสรรโควตาภาษี (Tariff Rate Quota Apportionment) ที่ UK และ EU จะใช้หลัง Brexit เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยไว้ให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากการเจรจาประเด็นการค้าอื่น ๆ
.
• กระทรวงพาณิชย์ มีกลยุทธ์ในการผลักดันการส่งออกไป EU (รวม UK) ในปี 2562 ดังนี้
> สร้าง/กระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partnership)
> สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น เชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศ (Local 2 Global)
> เจาะตลาด Niche Market เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสัตว์เลี้ยง กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม
> ส่งเสริมการค้าออนไลน์ (E-Commerce Platform)
> ส่งเสริมธุรกิจบริการศักยภาพ ได้แก่ Well Being, Digital Content, Logistics
> ใช้ประโยชน์จาก Big Data และยกระดับการให้บริการผ่าน DITP One Application (บูรณาการการให้บริการและข้อมูลการปฏิบัติงานทั้งหมดของกรม ผ่าน application เดียว) และจัดทำ Importer List (ฐานข้อมูลผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่จากทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกถึงแนวโน้มความต้องการสินค้าไทย)
.
• ในการสร้างโอกาสการค้าการลงทุนในระยะกลาง-ยาว ไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ควบคู่กับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ UK และ EU โดยเฉพาะใช้ประโยชน์จากการที่ UK จะสามารถกำหนดนโยบายและเจรจาการค้ากับประเทศที่สามได้ด้วยตนเอง

> การเจรจา FTA Thai-EU มีแนวโน้มดีขึ้น โดยรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงภาคเอกชน
ของทั้งสองฝ่าย ต่างมีท่าทีสนับสนุนให้รื้อฟื้นการเจรจา FTA Thai-EU ภายหลังการเลือกตั้งของไทย
> ไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากการหาพันธมิตรใหม่ทางการค้าของ UK ในการเจรจา FTA ทวิภาคี Thai-UK ซึ่งน่าจะคล่องตัวและมีความคืบหน้าเร็วกว่าการเจรจากับ EU ซึ่งต้องอาศัยความเห็นชอบจากหลายประเทศ ทั้งนี้ การหาพันธมิตรของ UK ในช่วงแรกจะเน้นการจัดทำ FTA กับประเทศที่มีความตกลงกับ EU อยู่แล้ว เช่น แคนาดา ตามด้วยประเทศศักยภาพที่ EU กำลังเจรจา FTA อยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
.
• Brexit ยังเป็นโอกาสอันดีในการดึงดูดนักลงทุน EU และ UK ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะ
ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานภาคการผลิตและการบริการของไทยในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value-added) และ EU มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและ โลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น
.
• ผู้ประกอบการ/นักลงทุนไทยควรใช้ประโยชน์จาก Brexit ในการหาลู่ทางการค้าลงทุนหรือกระจายฐานลูกค้าใน EU และ UK เพิ่มขึ้น รวมทั้งเตรียมเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่ค่าเงินมีความผันผวนสูง เพื่อรักษารายได้ในรูปเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login