ปีนี้เป็นปีที่ผู้บริโภคได้สัมผัสกับเครื่องดื่มที่มีความหลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องดื่มที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) สิ่งแวดล้อม และรสชาติใหม่ที่น่าสนใจโดดเด่น และสามารถเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคได้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจด้านการจัดเลี้ยง (Catering) จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทรนด์รสนิยมและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถให้บริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบไม่ตกเทรนด์
เทรนด์เครื่องดื่มยอดนิยมสำหรับปีนี้ ได้แก่
1. Functional Drinks
การใส่ใจเรื่องสุขภาพและการดูแลตัวเองเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยกำลังมองหาเครื่องดื่มที่เน้นเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือ Functional Drinks ซึ่งรวมถึงส่วนผสมต่างๆ เช่น สมุนไพร อิเล็กโทรไลต์ วิตามิน แร่ธาตุ และโปรไบโอติก กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มลักษณะนี้มีคุณค่าทางอาหารและประโยชน์ทางโภชนาการที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่การให้พลังงานที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงสุขภาพของลำไส้ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์และนำเสนอเครื่องดื่มที่สอดคล้องกับเทรนด์นี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ อาทิ เครื่องดื่มหมัก เช่น Kefir และ Kombucha ซึ่งเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของลำไส้ กาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่กังวลเรื่องผลกระทบของคาเฟอีนต่อการนอนหลับ ลาเต้ขมิ้นที่มีคุณประโยชน์ในการต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ หรือเครื่องดื่มที่ผสม CBD ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเนื่องจากมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ เป็นต้น
2. No and Low-Alcohol Products
ความนิยมของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการแสวงหาไลฟ์สไตล์และความต้องการที่จะมีวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งความต้องการและการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำเห็นได้ชัดเจนในผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ ผู้ประกอบการควรพิจารณาขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และ Mocktail เพื่อตอบสนองเทรนด์และความต้องการนี้ โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายแบรนด์ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์แต่ไม่กระทบต่อรสชาติหรือคุณภาพ เช่น เบียร์ 0.0% ซึ่งกำลังขยายตัวได้ดีในตลาด หรือการนำเสนอ Mocktail ใหม่ที่น่าตื่นเต้นจะสามารถช่วยดึงดูดลูกค้าที่ต้องการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง เช่น Hazelnut Espresso Martini Mocktail หรือ Virgin Marys เป็นต้น
3. Plant-Based Drinks
ผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชและผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปราศจากนมจากสัตว์มากขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเรื่องสุขภาพ จริยธรรม และสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการสามารถดึงดูดตลาดที่กำลังเติบโตนี้ได้ด้วยการนำเสนอเครื่องดื่มจากพืชที่มีความน่าสนใจ อาทิ นมถั่ว เช่น นมอัลมอนด์ นมโอ๊ต หรือนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และตัวเลือกอื่นๆ ที่กำลังเป็นเทรนด์ เช่น นมจากเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed Mylks) นมจากกัญชง (Hemp Mylks) ที่สามารถใช้เติมในกาแฟ ชา หรือสมูทตี้ สำหรับผู้ที่แพ้หรือไม่บริโภคนมจากสัตว์ นอกจากนี้ ชาสมุนไพร และชาดอกไม้ สามารถช่วยยกระดับการดื่มน้ำชาด้วยการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจประกอบด้วยสมุนไพร ดอกไม้ และผลไม้จากท้องถิ่น หรือ Mocktail จากพืชตามฤดูกาลที่ประกอบด้วยน้ำผลไม้สด สมุนไพร เครื่องเทศ และน้ำโซดาเป็นส่วนผสม ผู้ประกอบการอาจลองผสมรสชาติใหม่ๆ จากพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น Elderflower พืชในสกุล Sambucus เมื่อนำมาทำน้ำเชื่อมจะให้รสชาติหวานหอมสดชื่น เพิ่มรสชาติและเอกลักษณ์ให้กับเครื่องดื่ม หรือ Rhubarb พืชที่มีลำต้นสีแดงหรือชมพูและใบสีเขียว ให้รสชาติเปรี้ยว เพิ่มความสดชื่น หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ประกอบด้วยน้ำผลไม้และเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีนจากธรรมชาติจาก Yerbamate (พืชพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้ มีรสชาติเข้มข้นและมีคาเฟอีนสูง มักใช้เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มพลังงานและความกระปรี้กระเปร่า) ชาเขียว และโสม
4. Global Flavors
การสำรวจวัฒนธรรมและความหลากหลายของอาหารเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการเครื่องดื่มที่มีรสชาติต่างๆ จากทั่วโลก การทำความเข้าใจและเปิดรับเทรนด์นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความลึกซึ้งและความน่าสนใจให้กับเมนูเครื่องดื่มของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นเมนู Cocktail ที่ผสม Smoky Mezcal ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากต้น Agave ในประเทศเม็กซิโก มีกระบวนการผลิตที่ทำให้มีรสชาติและมีกลิ่นรมควันอันเป็นเอกลักษณ์ หรือ Mocktail ที่ผสม Yuzu ส้มสายพันธ์พิเศษจากญี่ปุ่นที่มีรสชาติต่างจากส้มทั่วไป ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้เครื่องดื่ม Mocktail เป็นต้น
นอกจากนี้ ความนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเอเชียที่มีเพิ่มมากขึ้น เช่น Soju ของเกาหลี ที่มักทำจากข้าว แต่สามารถทำจากวัตถุดิบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น มันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือมันเทศ เป็นเครี่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสชาตินุ่มนวล ดื่มง่ายกว่าและมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า Vodka แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าเบียร์ และ Shochu ของญี่ปุ่นที่มีรสชาติที่เข้มข้นและซับซ้อน มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าสาเก โดยทั่วไปปริมาณแอลกอฮอล์จะอยู่ที่ประมาณ 25-45% ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ไปผสม Cocktail เพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ให้กับเครื่องดื่มคลาสสิก
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
ปัจจุบันการเลือกใช้บริการร้านอาหาร คาเฟ่ หรือการจัดเลี้ยง ผู้บริโภคไม่เพียงแต่เลือกจากรสชาติอาหารที่อร่อย การบริการที่ดี การตกแต่งร้านหรือสถานที่ที่สวยงามดูดีแล้ว แต่ยังเลือกจากเมนูเครื่องดื่มด้วย เพื่อมองหาสิ่งที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีหรือประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารหรือการสังสรรค์นอกบ้าน และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของบุคคลในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนที่ร่วมมื้ออาหารที่มีรสนิยมและความชอบที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการร้านอาหาร คาเฟ่ และธุรกิจการจัดเลี้ยงจึงควรต้องติดตามเทรนด์และแนวโน้มความนิยมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อสามารถสร้างภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของร้านอาหารหรือคาเฟ่หรือการให้บริการจัดเลี้ยงของตน และยังสามารถเพิ่มรายได้จากอัตรากำไรที่สูงขึ้นด้วยเนื่องจากเมนูเครื่องดื่มมักจะมีอัตรากำไรที่สูงกว่าเมนูอาหาร
เทรนด์เครื่องดื่มในปีนี้มุ่งสู่การมีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) โดยเน้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางอาหารและประโยชน์ทางโภชนาการ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติโดยเฉพาะพืชและสมุนไพรต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อให้ได้รสชาติใหม่ที่แตกต่าง ผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายแบรนด์ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์เหล่านี้ ทั้งเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มจากพืช ผัก ผลไม้ หรือสมุนไพร เครื่องดื่มที่มีรสชาติแปลกใหม่จากส่วนผสมต่างๆ จากทั่วโลก หรือแม้แต่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือไม่มีแอลกอฮอล์เลย เช่น ผู้ผลิตเบียร์แบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ออกผลิตภัณฑ์เบียร์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด มีแอลกอฮอล์ต่ำ หรือ 0.0% แอลกอฮอล์ แต่ยังคงรสชาติเบียร์เหมือนเดิม เช่น Heineken 0.0 และ Texels เบียร์ท้องถิ่นแบรนด์ดังของเนเธอร์แลนด์ Texels Skuumkoppe 0.0 เป็นเบียร์ดำที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ มีรสชาติหวานเหมือนคาราเมลและแอปริคอท มีความ creamy และมีรสชาติหวานเล็กน้อยค้างอยู่ในคอหลังดื่ม (Aftertaste) เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาเทรนด์เหล่านี้แล้วนำไปพิจารณาต่อยอดหรือเพิ่มลูกเล่นให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของตนให้มีความแตกต่าง แปลกใหม่ และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยอาจใช้ผลไม้ไทย ดอกไม้ไทย หรือสมุนไพรไทยที่มีอยู่หลากหลายเป็นส่วนผสม เช่น เครื่องดื่มรสเสาวรส รสขิง รสกระเจี๊ยบ หรือรสลำไย เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกที่จะสามารถเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคได้ เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิมที่อาจมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เทรนด์เครื่องดื่มยอดนิยมปี 2024