หน้าแรกTrade insight > เทคโนโลยีและธุรกิจยุคใหม่ ABCDEF

เทคโนโลยีและธุรกิจยุคใหม่ ABCDEF

เทคโนโลยีและธุรกิจยุคใหม่ ABCDEF


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญและดำเนินการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจไทยสามารถยกระดับและปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกในอนาคต โดยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ที่สำคัญ หรือ ABCDEF ได้แก่ AI, Blockchain, Cloud, Data, E-Business และ platForm

เทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ (ABCDEF) โดยสรุป ได้แก่

A = AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือ โปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำความเข้าใจ เรียนรู้ วิเคราะห์ และประมวลผลต่างๆ อย่างอัตโนมัติ จึงกล่าวได้ว่า AI ถือกำเนิดขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์มีความสามารถที่จะเรียนรู้ (Machine Learning) ซึ่ง AI แบ่งออกเป็นหลายระดับตามความสามารถหรือความฉลาดเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้อธิบายว่า AI มีรูปแบบการทำงาน 5 ลักษณะ ได้แก่ 

  1. การวิเคราะห์และอธิบายเบื้องต้น (Describe)
  2. การพยากรณ์ (Predict)
  3. การทำงานอัตโนมัติ (Automate)
  4. การจัดประเภท (Classify) 
  5. การให้คำแนะนำ (Prescribe)

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ

ในปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้เพื่อลดการทำงานบางส่วน อาทิ Chatbot ในการตอบคำถามลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า โดย AI จะมาช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดและการลงทุน

B = Blockchain คือ ระบบการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledgers) ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งการมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ช่วยให้ดำเนินการตามสัญญาอย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวง ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันได้มากขึ้น เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ โดยข้อมูลที่จัดเก็บแบบกระจายทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล สามารถตรวจสอบที่มาหรือติดตามข้อมูลการทำธุรกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ 

ภาคการเงินการธนาคารเป็นกลุ่มที่มีการเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Thailand Blockchain Community Initiative (BCI) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มจัดตั้งบริษัทระหว่างธนาคารพาณิชย์ 22 แห่งของไทย ในการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน นอกจากนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนยังถูกนำไปใช้ในธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ ธุรกิจเพลงออนไลน์ และการ traceability สินค้าใน Supply Chain เป็นต้น

C = Cloud คือ การให้การบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นสูง และคิดค่าใช้บริการตามการใช้งานจริง สามารถใช้งาน Cloud ผ่านอินเตอร์เน็ต ดังนั้น Cloud จึงเป็นการบริการที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำกัดสถานที่ เวลา มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความเหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ 

หลายองค์กรใช้ Cloud ในการเก็บรักษา Backup Media ซึ่งสามารถกำหนดการเก็บข้อมูลแบบ Long-term Retention Period ได้สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้งานแบบดั้งเดิมบน Server ของหน่วยงาน นอกจากนี้การพัฒนา Application ในปัจจุบันมักใช้ Cloud เนื่องจากมีเครื่องมือในการพัฒนาครบถ้วน

D = Data หรือ ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงต่างๆ ยังไม่ผ่านการประมวลผล ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ให้ความหมายว่า ข้อมูลคือทุกอย่างที่สามารถแปลงเป็นดิจิทัลได้ ซึ่งสามารถต่อยอดประมวลผลด้วยการใช้แนวคิด Data Science คือการรวมศาสตร์ต่างๆ มาวิเคราะห์ข้อมูล หรือใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์และประมวลผล ทั้งนี้ จะเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) หรือข้อมูลขนาดเล็กไม่เป็นไร ขอให้เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ (Quality Data) ได้แก่ ถูกต้อง แม่นยำ ทันสมัย หลากมิติข้อมูล อาทิ ปริมาณ เวลา สถานที่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ 

บริษัทชั้นนำของโลก ทั้ง Facebook, YouTube, Google, Netflix รวมไปถึง Starbucks ในประโยชน์การการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Netflix ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการเก็บข้อมูลผู้ชมทั้งในด้านประวัติการเข้าชม การกดหยุดเล่น อุปกรณ์ที่ใช้ การค้นหา การให้คะแนน ฯลฯ นำมาทำเป็น Big Data ที่วิเคราะห์จากการเลือกดูหนังที่ผ่านมาว่า ผู้ชมน่าจะอยากดูเรื่องใดเป็นเรื่องต่อไป ทำให้มีผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 137 ล้านราย (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2018)

E = E-Business หรือธุรกิจดิจิทัล คือ การดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต อาทิ การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ธุรกิจบริการออนไลน์ (E-Service) ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)

ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ 

ธุรกิจเหล่านี้มีทั้งการเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจที่ดำเนินโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก และธุรกิจพัฒนาจากธุรกิจดั้งเดิมเป็นธุรกิจดิจิทัล เช่น Central.com, DHL ไทยรัฐออนไลน์ รวมไปถึงการโอนเงินผ่านระบบ Prompt Pay ของกลุ่มธนาคาร เป็นต้น

F = platForm คือ รูปแบบธุรกิจที่ใช้ Digital Platform ในการดำเนินธุรกิจ รองรับ E-Business รูปแบบต่างๆ โดยมีการศึกษาภายใต้ชื่อ The Rise of the Platform Enterprise5 แบ่งประเภทของ Platform ออกเป็น 4ประเภท ได้แก่

  1. Innovation Platform ที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นได้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้วนำมาวางไว้ใน Platform ของตนเอง ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ เช่น Apple iOS หรือ Google Android
  2. Transaction Platform เป็นลักษณะคล้ายๆ ตลาด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันและเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการขึ้น Platform ในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ Sharing Economy ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น Uber, Grab, Airbnb เป็นเสมือนตลาดกลางที่ช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายได้มีโอกาสเจอและจับคู่กันมากขึ้น 
  3. Integration Platform เป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทั้งแบบ Innovation และ Transaction platform รวมกัน เช่น Apple กับ Google เน้นนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน
  4. Investment platform เป็นพวกบริษัทหรือนักลงทุนที่เน้นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ใช้ Platform หลายๆ บริษัท เช่น Priceline Group ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและเดินทางก็เข้าไปลงทุนทั้งใน Priceline, Kayak, Open Table เป็นต้น

Login