หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > เจาะลึกตลาดน้ำตาลสหรัฐฯ

เจาะลึกตลาดน้ำตาลสหรัฐฯ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลของสหรัฐฯ ในปีการผลิต 2566/2567 (ปีการผลิตน้ำตาลสหรัฐฯ เริ่มที่เดือนตุลาคม 66 – กันยายน 67) จะลดลง 1% จากผลผลิตในปีก่อน อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ USDA ได้ประกาศเพิ่มโควต้าการนำเข้าน้ำตาล (tariff-rate quotas หรือ TRQs) จากประเทศต่าง ๆ สำหรับปีการผลิต 2566/67 อยู่ที่ 1.11 ล้านตัน โดยประเทศไทย ได้รับการจัดสรรโควต้าในการนำเข้าด้วยภาษีต่ำสำหรับปี 2566/2567 ในปริมาณ 15,061 ตัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ได้ประกาศเพิ่มโควต้านำเข้าน้ำตาลแบบพิเศษ โดยเฉพาะน้ำตาลออร์แกนิกเพิ่มสำหรับประเทศต่าง ๆ อีก 2 แสนตัน

ผลผลิตน้ำตาลในสหรัฐฯ จะมาจากหัวบีทและจากอ้อย โดยน้ำตาลจากบีทนั้น มีสัดส่วนเป็น 55% และน้ำตาลจากอ้อยมีสัดส่วน 45% ของการผลิตน้ำตาลทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยการผลิตน้ำตาลจากบีทนั้น จะกระจุกตัวอยู่ ทางตอนบน และการผลิตน้ำตาลจากอ้อยนั้น จะมาจากทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

ในปีการผลิต 2565/66 สหรัฐฯ ผลิตน้ำตาลจากบีทได้ลดลง 21,772 ตันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 4.6 ล้านตันเนื่องจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนเล็กน้อย อนึ่ง สำหรับผลผลิตน้ำตาลในปีการผลิต 2566/67 นั้น คาดว่าจะลดลงจากปีการผลิตปัจจุบัน 2% อยู่ที่ 4.5 ล้านตัน จากผลผลิตน้ำตาลจากบีทต่อเอเคอร์ที่คาดว่าจะลดลง 30.5 ตันต่อเอเคอร์ในปีหน้า และพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมที่น้อยลง ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกบีทในปี 2566/67 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,129 เอเคอร์ ลดลงกว่า 3% จากพื้นที่เพาะปลูกปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสภาพอากาศที่คาดว่าจะไม่อำนวยต่อการเพาะปลูกบีทในแถบรัฐ Montana รวมถึงการปิดตัวลงของโรงงาน Sidney Sugars โรงงานแปรรูปน้ำตาลจากบีท ทำให้คาดว่าการปลูกบีททางตะวันตกของรัฐ Dakota จะลดลงด้วย

สำหรับการผลิตน้ำตาลจากอ้อยปี 2565/66 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.71 ล้านตันและสำหรับปี 2566/67 นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 3.78 ล้านตัน โดยส่วนมากผลผลิตจะมาจากรัฐ Florida (1.8 ล้านตัน) รัฐ Louisiana (1.8 ล้านตัน) และรัฐ Texas (46,000 ตัน) การคาดการณ์ผลผลิตที่สูงขึ้นในปี 2566/67 เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดนั้น ได้สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ในการปลูกอ้อย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้มีการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ทนต่อสภาวะน้ำค้างแข็งในช่วงฤดูหนาวได้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอ้อยในทุ่ง Rio Grande ในรัฐ Texas นั้น คาดว่าจะลดลงเนื่องจากความไม่แน่นอนของการปล่อยน้ำจากเขื่อนในเม็กซิโก ทำให้คาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกในแถบพื้นที่ดังกล่าวจะลดน้อยลง

ในส่วนของการนำเข้าน้ำตาลของสหรัฐฯ ในปี 2565/66 นั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.19 ล้านตัน โดยคาดว่าจะมาจากเม็กซิโกเป็นส่วนใหญ่ ในปริมาณ 1.28 ล้านตัน ทั้งนี้ สำหรับปีการผลิต 2566/67 นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 ล้านตัน ในด้านของการบริโภคภายในประเทศสหรัฐฯ สำหรับปีการผลิต 2565/66 และ 2566/67 นั้น USDA คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1% โดยพบว่าการบริโภคน้ำตาลจากบีทในสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ในขณะที่การบริโภคน้ำตาลจากอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากการผลิตในประเทศแล้ว USDA ได้คาดการณ์การผลิตน้ำตาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพบว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกในปีการผลิต 2566/67 นี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.6 ล้านตัน อยู่ที่ 187.9 ตัน โดยคาดว่าการผลิตที่มากขึ้นจากบราซิล อินเดีย และไทย จะชดเชยการผลิตที่ลดลงของรัสเซียในปีนี้ ในด้านของการบริโภคนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากอุปสงค์ที่เติบโตในบางตลาด เช่น อินเดียและปากีสถาน รวมทั้ง สต๊อกน้ำตาลของจีนเองก็คาดว่าจะปรับตัวลดลงเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น USDA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำตาลของไทยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 11.2 ล้านตัน และคาดว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลก็จะสูงขึ้นด้วยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งจะผลักดันอุปสงค์น้ำตาลภายในประเทศทั้งสำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผลผลิตน้ำตาลในไทยนั้น นำมาใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของการบริโภคน้ำตาลทั้งหมดในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3.21 ล้านตัน ในด้านของการส่งออกนั้น ปัจจุบันไทยเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกน้ำตาลสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2566/67 นั้น USDA คาดการณ์ว่าไทยจะส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน จาก 11ล้านตันในปี 2565/66 เป็น 12 ล้านตันในปีการผลิต 2566/67

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกน้ำตาลของอินเดียนั้น เป็นที่น่าจับตามอง โดยผลผลิตน้ำตาลของอินเดียคาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านตัน แม้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลอินเดียจะประกาศระงับการส่งออกน้ำตาล ดังที่ได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงในประเทศ ทั้งนี้ ในปีการผลิตที่ผ่านมา อินเดียได้จำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ 6.1 ล้านตัน ลดลงจาก 11 ล้านตันในปีก่อนหน้า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลในอินเดีย เช่น Henrique Akamine ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำตาลจากบริษัท Tropical Research Services ของอินเดีย ได้คาดการณ์ว่ารัฐบาลอินเดียอาจประกาศจำกัดการส่งออกน้ำตาลของอินเดียสำหรับฤดูการผลิต 2566/67 นี้ ไว้เพียง 2-3 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งอาจจะผลักให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น

ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก

น้ำตาลนับว่าเป็นสินค้าส่งออกศักยภาพของไทย การเพิ่มโควต้านำเข้าน้ำตาลของสหรัฐฯ รวมถึง สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย นับว่าเป็นโอกาสของผู้ส่งออกน้ำตาลไทย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีผู้นำเข้าสหรัฐฯ หลายรายที่กำลังมองหาผู้ส่งออกน้ำตาลจากไทย ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกน้ำตาลมายังสหรัฐฯ สามารถติดต่อสคต.นิวยอร์ก เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในการส่งออกน้ำตาลมายังสหรัฐฯ ได้ที่ info@thaitradecenterny.com

ที่มา: USDA Sugar and Sweeteners Outlook/ USDA Sugar World Markets and Trade/ Bloomberg

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

Login