หน้าแรกTrade insightสุกร > อุตสาหกรรมหมูแคนาดาไม่ค่อยสดใส

อุตสาหกรรมหมูแคนาดาไม่ค่อยสดใส

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566

อุตสาหกรรมหมูแคนาดาไม่ค่อยสดใส

ผู้เลี้ยงและแปรรูปเนื้อหมูในแคนาดาพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ในปี 2564 การส่งออกเนื้อหมูของแคนาดาพุ่งสูงขึ้นมากถึงเกือบ 5,000 ล้านเหรียญแคนาดา โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน จนทำให้แคนาดากลายเป็นผู้ส่งออกเนื้อหมูสดและแช่แข็งอันดับ 3 ของโลก

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมหมูของแคนาดาเริ่มพบปัญหา ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การส่งออกไปตลาดจีนที่มีความไม่แน่นอน การแข่งขันที่สูงกับผู้ส่งออกในยุโรปและสหรัฐฯ ราคาตลาดโลกที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิต รวมถึงอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลายรายเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน และธุรกิจแปรรูปรายใหญ่มีการขาดทุน นอกจากนี้ การที่แคนาดามีกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดในการเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงมีส่วนทำให้ต้นทุนการทำฟาร์มสุกรมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย

บริษัท Olymel ผู้ผลิตรายใหญ่ของรัฐควิเบก ประกาศปิดโรงงานในรัฐควิเบกและซัสแคชวาน ซึ่งจะลดกำลังการผลิตสุกรของทั้งสองรัฐลงส่วนหนึ่ง และบริษัท Maple Leaf Foods ผู้ผลิตรายใหญ่ของรัฐออนแทรีโอ ประกาศผลขาดทุน เนื่องจากต้นทุนของการเลี้ยงหมูสูงกว่ามูลค่าของเนื้อหมูซึ่งอยู่ในช่วงราคาตกต่ำ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูก็ประสบปัญหาขาดทุนจากการขายสุกร และเห็นว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าแคนาดาควรลดกำลังการผลิตลงในปริมาณที่สูงเพื่อให้เกิดความสมดุลในอุตสาหกรรม โดยในปี 2565 ผู้ประกอบการเนื้อสุกรในแคนาดาฆ่าสุกรไป 21.7 ล้านตัว ซึ่งน้อยกว่าปริมาณในปี 2564 เพียงเล็กน้อย

ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อสุกรแคนาดาคาดหวังว่าการส่งออกไปจีนจะกลับมาดีขึ้น หลังจากจีนมีการห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากแคนาดาบางช่วงในปี 2562 และแม้ว่าการส่งออกไปจีนในปี 2566 จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แต่อาจมีความไม่แน่นอนเนื่องจากจีนเองมีการเพิ่มการผลิตภายในเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า

ภาครัฐเริ่มหาแนวทางเพื่อจัดการกับปัญหาของอุตสาหกรรมเนื้อหมูล้นตลาด เช่น รัฐควิเบกจะให้เงินชดเชยแก่เกษตรกรเพื่อให้เลิกเลี้ยงหมู โดยมีเป้าหมายจะลดจำนวนผลผลิตหมูลง 1 ล้านตัวต่อปี โดยเริ่มแรกจะให้ลดการผลิตโดยสมัครใจหรือหากไม่มีผู้เข้าร่วมอาจกำหนดให้ทุกรายลดการผลิตลงในสัดส่วนที่เท่ากัน

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนแคนาดาเรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในการเจรจาการค้า โดยเฉพาะกับการลดอุปสรรคทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร แม้สองฝ่ายจะมีความตกลงการค้าเสรีร่วมกันแล้ว

 

ความเห็นของ สคต.         

ควิเบกเป็นรัฐที่มีการผลิตและแปรรูปเนื้อสุกรมากที่สุดของแคนาดา โดยมีเกษตรกรและผู้ประกอบการ 2,400 ราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 31 ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยแคนาดาส่งออกร้อยละ 70 ของเนื้อสุกรที่ผลิตได้ และตลาดหลักของเนื้อหมูแคนาดาคือ เอเชีย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด การขาดแคลนแรงงาน และอุตสาหกรรมเนื้อสุกรที่เติบโตในประเทศจีนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อสุกรของแคนาดา รวมทั้งการแข่งขันที่สูงกับผู้ส่งออกในยุโรปและสหรัฐฯ ราคาตลาดโลกที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิต รวมถึงอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และปีที่ผ่านมาราคาเนื้อหมูลดลงร้อยละ 15 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและธุรกิจแปรรูปรายใหญ่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาครัฐอยู่ระหว่างหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวในอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากการหาทางลดการผลิตในประเทศลง ควบคู่กับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อเปิดตลาดให้เนื้อสุกรของแคนาดาแล้ว แคนาดาอาจต้องหาแนวทางลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ และมุ่งเน้นตลาดในประเทศให้มากขึ้นด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)

——————————————————————-

ที่มา The Globe and Mail

Login