กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ได้ประกาศรายงานการวิเคราะห์การลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการไต้หวันในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 พบว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้ผู้ประกอบการไต้หวันหันไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนมากขึ้น โดยมีมูลค่าสูงถึง 4,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 47.5 ของมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไต้หวันทั้งหมด โดยประเทศในอาเซียนที่ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนมากที่สุดได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน อาเซียนกลายเป็นจุดหมายด้านการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมของกลุ่มประเทศอาเซียนระหว่างปี 2561-2564 มีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนในประเทศจีนแล้ว โดยมีสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอียูเป็นแหล่งทุนหลัก 3 อันดับแรกที่เข้าลงทุนในอาเซียนในปี 2564 มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 36.9 โดยประเภทธุรกิจที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดได้แก่ การเงินและประกันภัย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด รองลงมาได้แก่ภาคการผลิต (สัดส่วนร้อยละ 28.2) ในส่วนของการลงทุนจากไต้หวันนั้น มูลค่ารวมของลงทุนไต้หวันในอาเซียนสูงเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2549 และได้รับปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของไต้หวันในอาเซียน ในปี 2564 และ 2565 เพิ่มขึ้นมาจนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44.8 และ 47.5 ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน โดยสิงคโปร์ และเวียดนาม ถือเป็น 2 ตลาดที่ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งการลงทุนในสิงคโปร์ในระยะหลังส่วนใหญ่จะเป็นในภาคบริการ เช่น ค้าปลีกและค้าส่ง รวมถึงการเงินและประกันภัย ส่วนเวียดนามจะเป็นในกลุ่มภาคการผลิตเป็นหลัก (Metal, Electronics, Mechanical and Electrical Industry) รองลงมาได้แก่มาเลเซีย (Plastics, ค้าปลีกและค้าส่ง, การเงินและประกันภัย) ส่วนอินโดนีเซีย จะเป็นการลงทุนกลุ่มพลังงานและโลหะ โดยที่การลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกลุ่ม Metal, Mechanical and Electrical Industry
การลงทุนของไต้หวันส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นการลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก รองมาได้แก่ด้านการเงินและประกันภัย และเมื่อจำแนกประเภทการลงทุนในภาคการผลิตแล้วพบว่า การลงทุนในระยะแรก มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่ม Metal, Mechanical and Electrical Industry อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทำให้มีการลงทุนในกลุ่ม Information and Electronic Industry เพิ่มสูงขึ้นมาก
สำหรับตลาดหลัก 5 อันดับแรกของการลงทุนจากไต้หวันในต่างประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส หมู่เกาะแคริเบียน และเวียดนาม โดยไทยเป็นตลาดในลำดับที่ 12 มีมูลค่าการลงทุนรวม 66.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.8
ที่มา: Commercial Times / Economic Daily News (June 29, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การค้าระหว่างไทยกับไต้หวันในปัจจุบัน มีสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของทั้งสองฝ่ายและมีสัดส่วนที่สูง แสดงให้เห็นถึงความเป็นเครือข่ายการผลิตระหว่างกัน ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้เกิดการย้ายฐานออกจากจีน และรวมถึงการหาฐานการผลิตใหม่ของนักลงทุนไต้หวัน ซึ่งมีอาเซียนรวมถึงไทยเป็นเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับไต้หวันที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามการลงทุนที่สูงขึ้น
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)