หน้าแรกTrade insightยางพารา > ออสเตรียจัดสัมมนาเศรษฐกิจการค้าใหญ่สุดในอาเซียนกลางสิงคโปร์ มุ่งเทรนด์การเติบโตอย่างยั่งยืน

ออสเตรียจัดสัมมนาเศรษฐกิจการค้าใหญ่สุดในอาเซียนกลางสิงคโปร์ มุ่งเทรนด์การเติบโตอย่างยั่งยืน

“ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจยุโรปและความหวังที่หายไปของตลาดรัสเซีย หอการค้าออสเตรียเบนเข็มมุ่งแสวงหาโอกาสทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมปฏิบัติการเชิงรุกเตรียมแรงงานป้อนกลับประเทศ”

สภาหอการค้าออสเตรีย (Austrian Economic Chamber หรือตัวย่อ WKO) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจภาคปฏิบัติด้านเศรษฐกิจของประเทศ (เทียบกับหน่วยงานของไทย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ และบางส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม) จัดงานประชุมสัมมนาทางเศรษฐกิจ Austria Connect 2023 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกและเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรียที่เคยจัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้เป็นเวทีในการนำเสนอศักยภาพของบริษัทออสเตรียในเวทีโลกและระดมสมองเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้หัวข้อหลักของงานคือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำทีมโดยนายฮาราลด์ มาห์เร่อ (Harald Mahrer) ประธานสภาหอการค้าออสเตรีย ผู้ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของภารกิจด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่ง WKO มีสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ (Aussenwirtschaftscenter) กว่า 70 แห่งทั่วโลก ในงานมีการรวมตัวของนักธุรกิจออสเตรียและนักธุรกิจในภูมิภาคกว่า 300 ราย เข้าร่วมฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนทัศนะ

ภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากรกว่า 670 ล้านคน และนอกจากสิงคโปร์ยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ในปีที่ผ่านมาออสเตรียส่งออกสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นมูลค่ารวมสูงกว่า 2,000 ล้านยูโรเป็นครั้งแรก แต่เมื่อเทียบกับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปแล้วยอดส่งออกนี้เทียบได้กับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก (ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้) เท่านั้น อาเซียนซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4 ถึง 5 ต่อปี และมีการเติบโตของชนชั้นกลางจึงยังมีโอกาสอยู่มากสำหรับออสเตรีย และจะสามารถชดเชยโอกาสที่หายไปของตลาดรัสเซียที่เป็นตลาดแห่งความหวังก่อนหน้านี้

ธุรกิจของออสเตรียที่มีศักยภาพสำหรับตลาดนี้ ยกตัวอย่างเช่น พลังงานหมุนเวียน และการบริการสำหรับระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังประเทศที่อยู่ในความสนใจของออสเตรียในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค ซึ่งอีกด้านหนึ่งออสเตรียสนใจเข้าลงทุน อาทิ การสร้างหุ่นยนต์ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ตลอดการประชุมมีการเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในอนาคต

นอกจากโอกาสทางการค้าและการลงทุนแล้วออสเตรียยังแสวงหาแรงงานคุณภาพในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งปัจจุบันออสเตรียมีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งประธานหอการค้าออสเตรียสนับสนุนนโยบายการเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มตำแหน่งที่ว่าง และปัจจุบันมีโครงการนำร่องร่วมกับประเทศฟิลิปปินส์ในการจัดหาแรงงานสำหรับภาคการบริการสุขภาพ แต่ในทางปฏิบัติยังติดอุปสรรคอยู่มากจากกระบวนการที่ยาวนาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้ผู้ที่ต้องการสมัครงานจะต้องสอบผ่านภาษาเยอรมันระดับสูง (B2) ซึ่งยากและใช้เวลามาก แต่กระนั้น สภาหอการค้าออสเตรียยังมีแนวคิดจะขยายการจัดหาแรงงานต่างชาติสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ดี จะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการให้เอื้ออำนวยยิ่งขึ้น ดังเช่นตัวอย่างของเยอรมนี ซึ่งเข้าไปร่วมพัฒนาเตรียมความพร้อมบุคลากรในประเทศต้นทาง

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ

แม้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กแต่มีบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกที่ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น Alpla (ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้กับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค) Andritz (ผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใต้น้ำ) Doppelmayr (ผู้ผลิตกระเช้าไฟฟ้า) KTM (ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์) Lenzing (ผู้ผลิตใยผ้าจากพืช) Luf (ผู้ผลิตหุ่นยนต์ดับเพลิง) Red Bull (ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง) Semperit (ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากยางพารา) Swarovski (ผู้ผลิตเครื่องประดับคริสตัลและกล้องส่องทางไกล) Tyrolit (ผู้ผลิตแผ่นเจียรอุตสาหกรรม) Zumtobel (ผู้ผลิตระบบไฟอาคารและไฟประดับ) เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีการเข้ามาดำเนินธุรกิจในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยแล้วด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางสำคัญแห่งหนึ่งของบริษัทออสเตรียซึ่งมีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเป็นเวลายาวนาน สภาหอการค้าออสเตรียมีสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน (Aussenwirtschaftcenter) ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีขอบเขตรับผิดชอบดูแลประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา (และเดิมดูแลครอบคลุมตลาดเวียดนามด้วย แต่ปัจจุบันมีการเปิดสำนักงานเพิ่มเติมในประเทศเวียดนามเพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญและปริมาณงานที่มากขึ้น) สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของออสเตรียแห่งอื่นๆ ในอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาร์กาตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงมะนิลา และสิงคโปร์

ในประเด็นด้านแรงงาน สคต. เวียนนา เคยได้เข้าพบหารือกับสภาหอการค้าออสเตรียเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการนำเข้าแรงงานจากประเทศไทย โดยเฉพาะพนักงานปรุงอาหารไทย ซึ่งขาดแคลนและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภารกิจการส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างข้อตกลงระหว่างออสเตรียและฟิลิปปินส์ (บุลคลากรในภาคการบริการสุขภาพ) และข้อตกลงระหว่างออสเตรียกับจีน (พนักงานปรุงอาหารจีน) แต่อีกด้านหนึ่งหน่วยงานบริหารจัดการตลาดแรงงานออสเตรีย (AMS) ค่อนข้างมีนโยบายที่สวนทางกับสภาหอการค้า (WKO) คือค่อนข้างปิดกั้นการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศและต้องการให้ใช้แรงงานที่มีอยู่ในประเทศก่อน ซึ่งมีศักยภาพไม่เพียงพอสำหรับการปรุงอาหารไทย ประกอบกับกระบวนการและเงื่อนไขที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญและไม่สามารถผลักดันให้เปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่ง สคต. เวียนนา ได้เสนอแนวทางที่คล้ายคลึงกัน คือ การจัดตั้งกระบวนการพัฒนาทักษะและเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในประเทศไทยที่ต้องการไปทำงานในประเทศออสเตรีย โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษาในระดับที่ออสเตรียกำหนด และจำเป็นต้องผลักดันให้มียกประเด็นนี้ขึ้นการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกันในระดับรัฐบาล

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา

ตุลาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login