เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล
(นางสาวพุทธชาติ วงษ์มงคล) ได้พบและหารือกับ Mrs.Marcilia, Marketing Manager, ร้าน Jia He เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องปรุงรส รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้นำเข้า
๑. รายละเอียดองค์กร
ร้าน Jia He เป็นผู้นำเข้าสินค้าเอเชียเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและค้าส่ง โดยนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ก่อตั้งมากว่า 5 ปี ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าไทยไม่หลากหลายมากนักตั้งอยู่ที่ ร้าน Jia He, R. da Gloria, 132 Liberdade, São Paulo, 01510-000
๒. สรุปการหารือ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล ได้สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้จัดการด้านการตลาดของร้าน Jia He ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเอเชียเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและค้าส่ง โดยสคต. ได้แนะนำบทบาทและการดำเนินการของสำนักงานฯ ในการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับบราซิล รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการจำหน่ายในร้าน Jia He และได้สำรวจสินค้าไทยที่มีการจำหน่ายในร้าน พบว่ามีข้าวหอมมะลิยี่ห้อ Asanee และตรา Golden Orchid น้ำปลาตราเหรียญทอง น้ำปลาตราทิพรส กะปิ ถั่วเหลืองซีก ข้าวเหนียว และเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยสคต. ได้แนะนำสินค้าไทยเพิ่มเติมให้แก่ผู้จัดการด้านการตลาด เพื่อพิจารณานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยผู้แทนร้าน Jia He แจ้งว่า สนใจจะนำเข้าสินค้าได้แก่ ธัญพืชจากไทย ผักกาดดอง และเครื่องปรุงจำพวกพริแกง เพิ่มเติม
ในการนี้ ผอ.สคต. แจ้งว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 สคต. มีกำหนดจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง จึงขอเชิญผู้แทนร้าน Jia He เข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผู้แทนดังกล่าวแจ้งตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออกไทยด้านอาหาร โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งผอ.สคต. ได้มอบรายชื่อบริษัทผู้ส่งออกด้านอาหารไทยพร้อมรูปตัวอย่างสินค้าให้ร้านพิจารณาเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจต่อไป
3. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
สคต. ณ นครเซาเปาโล เห็นว่า กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไทยด้านอาหารกับผู้นำเข้าบราซิลในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 จะสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ไทยในตลาดบราซิลมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้ผู้นำเข้าได้เจรจาธุรกิจโดยตรง สามารถเห็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ซึ่งเสริมสร้างกระแสนิยมในความหลากหลายของเครื่องปรุงอาหารไทยควบคู่กับสินค้าอาหารอื่นๆ ของไทย ช่วยขยายโอกาสและช่องทางการค้าในตลาดบราซิลกับผู้นำเข้ารายใหม่มากยิ่งขึ้นซึ่งจะนำไปสู่พันธมิตรทางการค้าที่ยั่งยืนในระยะยาว
————————————-
ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)