หน้าแรกTrade insight > สรุปสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2563

สรุปสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2563

ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.99 (YoY) หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดโดยรวม ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการที่หายไปบางส่วนจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน  เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.41 (YoY) (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.54) เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.- เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.44 (AoA) และ เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.50 (AoA)

.
การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ดังนั้น หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น น่าจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้       ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์หลังโควิด-19 (Post Covid-19)


สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2563

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.99 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลงร้อยละ 5.28 โดยเฉพาะหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 9.77 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกประเภท และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ส่วนสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นคือ ค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้ ค่าโดยสารเครื่องบิน) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 4.56 จากการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และสินค้าจำเป็นหลายรายการ (ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยารีดผ้า) ปรับลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ ก๊าซหุงต้ม ปรับลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.08 (รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ    เสื้อยืดสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (น้ำยาระงับ กลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย แป้งผัดหน้า) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.34 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (สุรา) ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.04 จากทุกหมวดสินค้ายกเว้นสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 4.10 จากฐานราคาปีที่ผ่านมาสูง และความต้องการบริโภคชะลอตัว ประกอบด้วย ผักสด (พริกสด มะนาว ต้นหอม) และผลไม้ (เงาะ มะม่วง ลองกอง) สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 7.36 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.37 (เนื้อสุกร ไก่ย่าง ปลานิล ปลาดุก) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.52 เกิดจากพฤติกรรมการซื้อไข่ไก่ครั้งละมาก ๆ ทำให้สินค้าขาดตลาดในบางช่วง เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น ร้อยละ 3.16 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.32 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.58 และ 0.32 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 ลดลงร้อยละ 2.03 (MoM) และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.44 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.3 (YoY) หดตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี 10 เดือน โดยลดลงในทุกหมวดสินค้า ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19         ที่ขยายวงกว้าง ทำให้ภาคการผลิตและบริการทั้งในและต่างประเทศหดตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ     ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้ราคาสินค้าสำคัญลดลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.2 จากการลดลงของกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะ  ขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน   ยางแท่ง ถุงพลาสติก) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.6 อาทิ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 อาทิ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง ยางพารา และพืชผัก) กลุ่มสัตว์มีชีวิต (สุกรมีชีวิต) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (กุ้งแวนนาไม และหมึกสด) ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก มะพร้าวผล ปาล์มสด ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 ลดลงร้อยละ 1.7 (MoM) และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.4 (AoA)

.
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.0 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่ลดลง ทั้งปริมาณการจำหน่ายเหล็ก/ปูนซีเมนต์ และการเบิกจ่ายงบลงทุน โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 15.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก) ตามราคาวัตถุดิบเป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 (คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ) ตามปริมาณงานก่อสร้างที่ลดลง และการแข่งขันสูง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 1.1 (อลูมิเนียม ยางมะตอย) หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.8 (ปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.2 (อ่างล้างหน้าเซรามิก กระจกเงา สายฉีดชำระ) ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องแกรนิต) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน-โลหะ) ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 ลดลงร้อยละ 1.0 (MoM) และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.7 (AoA)

.
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเมษายน 2563 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 33.3 เทียบกับระดับ 37.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 32.7 มาอยู่ที่ระดับ 28.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ลดลงจากระดับ 40.7 มาอยู่ที่ระดับ 36.8 การปรับตัวลดลงในเดือนนี้ สาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน และการดำเนินธุรกิจ  ในวงกว้าง เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม จำแนกรายสัปดาห์ พบว่า ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 และเริ่มปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3-4 โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยคาดว่ามาตรการในรูปแบบต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือ  ผู้ได้รับผลกระทบน่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในระยะต่อไป
.
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ (ทั้งจากด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน) ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยสถานการณ์ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากการตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มได้ข้อยุติ และความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีนและบางประเทศ ที่เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังสถานการณ์โควิด–19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่ ภัยแล้งอาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ลดลงและฐานราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่สูงมากในปีก่อน โดยรวมแล้วราคาในเดือนพฤษภาคม 2563 น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ (-1.0) – (-0.2) (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6)

Login