หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > รายงานตลาดไม้ตัดดอกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

รายงานตลาดไม้ตัดดอกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สถานการณ์ทั่วไป

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีสภาพภูมิอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 20-45 องศาเซลเซียส พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่เหมาะในการเพาะปลูกดอกไม้ ส่วนใหญ่นำเข้าดอกไม้สดจากต่างประเทศ ดอกไม้ที่นำเข้ามาก ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกกล้วยไม้ ดอกลิลลี่ และดอกเบญจมาศ เป็นต้น สำหรับสินค้าของไทยที่นำเข้าในตลาดนี้ คือ ต้นและดอกกล้วยไม้ พันธุ์ที่นำเข้ามากคือ กล้วยไม้สกุลหวาย  สีแดง สีม่วง และสีขาว เนื่องจากสีสันสดใส  ระยะเวลาในการใช้งานนาน และราคาไม่แพง จากเดิมที่นิยมไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ซึ่งเท่ากับว่าความต้องการกล้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมายูเออีนำเข้าดอกไม้สดลดลง โดยเฉพาะปี 2563 ที่มูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 8.8 อยู่ที่ 45.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ต่อมาในปี 2564 กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้น

จากการสำรวจตลาดพบว่า ดอกไม้ที่ยูเออีนิยมนำเข้ามากน้อย ได้แก่ ดอกกุหลาบ กล้วยไม้ ลิลลี่ เบญจมาศ คาร์เนชั่น ทิวลิบ เยอบีร่า แกลดิโอลัส  ไฮเดรนเยีย และอื่นๆ (ดอกทานตะวัน  Lisianthus และ Veronica      เป็นต้น)

ยูเออีจัดเก็บสถิติการนำเข้าไม้ตัดดอกทุกประเภทภายใต้ HS Code 0603 มีมูลค่าการนำเข้าในช่วง 3 ปี (2562-2564) สรุปได้ดังนี้

ปี 2562 มูลค่า 50.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว (+4.4%)

ปี 2563 มูลค่า 45.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-8.8%)

ปี 2564 มูลค่า 64.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+39.9%)

จากสถิติมูลค่าการนำเข้าไม้ตัดดอกของประเทศยูเออีล่าสุดในปี  2564 พบว่ามีการนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศเนเธอรแลนด์มากเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนั้นนำเข้าจาก เคนย่า เอธิโอเปีย อินเดีย โคลัมเบีย แอฟริกาใต้ เอกวาดอร์ จีน อิสราเอล และไทย มีสัดส่วนการนำเข้า (%) ตามกราฟ

การนำเข้าดอกกล้วยไม้

ดอกกล้วยไม้คิดเป็นสัดส่วน   ร้อยละ 3.4 ที่ยูเออีนำเข้าดอกไม้ทั้งสิ้นในปี 2564 นำเข้ามูลค่าสูงสุดจากเนเธอร์แลนด์ อันดับสองจากประเทศไทย

สถิตินำเข้าของ UN Comtrade ระหว่างปี 2562-2564 แสดงมูลค่าการนำเข้า สรุปได้ดังนี้

ปี 2562 มูลค่า 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว(+4.41%)

ปี 2563 มูลค่า 1.5 ล้นเหรียญสหรัฐฯ  (-48.4%)

ปี 2564 มูลค่า 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ  (+46.7%)

การปลูกในประเทศ

เมืองอัลเอนเป็นเมืองกสิกรรมปลูกผัก ผลไม้ สำหรับใช้ในประเทศและส่งออก  มีฟาร์มปลูกกุหลาบใน Green House พื้นที่ 4 Hectares เน้นปลูกดอกกุหลาบ นอกจากนั้นเป็นดอกคาร์เนชั่น ดอกเบญจมาศ ดอกลิลลี่ และดอกยิปโซ  (gypsophylas) ที่ผ่านมาเคยใช้สำหรับส่งออก แต่ขณะนี้สินค้าทั้งหมดสำหรับใช้ในประเทศ

ผู้นำเข้าดอกไม้สดรายใหญ่ของยูเออีบริษัทมีสาขาในต่างประเทศและทำฟาร์มปลูกดอกไม้ ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี กาตาร์ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เคนย่า เอธิโอเปีย และมาเลเซีย มีคนงานรวมกว่า 6,000 คน  สินค้าใช้ส่งออกไปทั่วโลก

การส่งออกของไทย

หลังจากแนวโน้มตลาดกล้วยไม้ในยูเออีเริ่มกลับมาคึกคัก ไทยส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้กระถางไป  ยูเออี  ระหว่างปี 2564-2566 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าและอัตราขยายตัว ปรากฎตามตารางดังนี้

ที่ สินค้า มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัว (%) สัดส่วน (%)
2564 2565 2566    (ม.ค.ส.ค.) 2564 2565 2566   (ม.ค.ส.ค.) 2564 2565 2566    (ม.ค. – ส.ค.)
1 ต้นกล้วยไม้ 0.27 0.53 0.68 65.47 99.01 136.25 37.86 47.13 55.83
2 ดอกกล้วยไม้ 0.44 0.60 0.54 40.17 36.02 31.80 62.14 52.87 44.17
มูลค่ารวม 0.71 1.13 1.22 48.78 59.87 75.00 100 100 100

ประเภทสินค้าและลักษณะสินค้า

ดอกไม้ที่จำหน่ายในยูเออี ครึ่งหนึ่งเป็นดอกไม้ที่จำหน่ายในร้านดอกไม้ค้าปลีกทั่วไป ที่เหลือใช้จำหน่ายในร้านค้าปลีกอื่นๆ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ

สำหรับไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ มีคู่แข่งสำคัญ เช่น   ดอกเบญจมาศจากเนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ดอกกุหลาบและลิลลี่จากอินเดีย เนเธอร์แลนด์ เคนยา เป็นต้น

ดอกไม้สดที่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานสั้น ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการใช้สำหรับประดับตกแต่งบ้านเรือนมากนัก แต่มักจะใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด รับขวัญเด็กเกิดใหม่ วันเปิดร้านใหม่ ตกแต่งสถานที่ประชุมสัมมนา และงานแสดงสินค้า เป็นต้น

ผู้ใช้ดอกกล้วยไม้ที่สำคัญ คือ กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยูเออีประกาศล็อกดาวน์ปิดประเทศตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562  จำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัส ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม แต่หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศปลายปี 2563  การกลับมาของนักท่องเที่ยว อนุญาตให้จัดงานแสดงสินค้าและสันทนาการต่างๆ    โรงแรม ร้านอาหารทยอยเปิดดำเนินกิจการ ทำให้โรงแรมซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ดอกไม้สดรายใหญ่เริ่มสั่งซื้อดอกไม้มากขึ้น

บรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่ง

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่บรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูกแข็ง ซึ่งเป็นกล่องส่งออกทั่วไปไม่มีข้อกําหนดพิเศษสําหรับลวดเย็บ และสายรัด ไม่ค่อยใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล วิธีการบรรจุขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดสินค้า  การขนส่งและอุณหภูมิของผลิตภัณฑ์สำหรับขนส่งใบและดอกไม้เมืองร้อน (tropical flowers) ใช้ระบบการขนส่งแบบควบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain )    ตามความต้องการของผู้นำเข้า รวมทั้ง การใช้ปลอกกระดาษหรือปลอกพลาสติก วัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ

ลักษณะสินค้า นอกจากข้อกำหนดขั้นพื้นฐานของผู้ซื้อและข้อกำหนดทางกฎหมาย (ใบรับรองปลอดศัตรูพืช : Phytosanitary Certificate หรือ PC กํากับไปกับสินค้ากล้วยไม้ตัดดอก)  ผู้นำเข้ามักกำหนดคุณภาพอื่นๆ   ได้แก่

  1. ก้านตรง
  2. ใบที่สะอาดและเป็นมัน
  3. อายุการใช้งานแจกันยาวนาน (ประมาณ 7 วัน เพื่อให้สินค้าสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งสัปดาห์ในการใช้)
  4. ก้านที่ยาวขึ้นสะท้อนราคาที่สูง
  5. ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและไม่เสียหาย
  6. ความสม่ำเสมอของดอกและใบ เช่น ความยาว ระยะดอกไม้บาน และสีของดอกไม้

ราคาสินค้า
          – ราคาขายปลีกกล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium ขาวสนาน สีแดงม่วง สีม่วงขาว และย้อมสีฟ้าประมาณ

ก้านละ 2.00 เหรียญสหรัฐฯ

-ราคาขายปลีกกล้วยไม้พันธุ์ Cymbidium ประมาณก้านละ 4.00 เหรียญสหรัฐฯ

– ราคาจำหน่ายกล้วยไม้ Phalaenopsis

– ต้น 1 ช่อ ราคาต้นละ 45-75 เหรียญสหรัฐฯ

– ต้น 2-3 ช่อ ราคา 100-150 เหรียญสหรัฐฯ

– ตัน 4 ช่อราคา 200 เหรียญสหรัฐฯ

คู่แข่งขัน

ขณะนี้ดูไบนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศกลุ่มแอฟริกา เช่น เคนยา เอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ ที่นักลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ไปลงทุนเพาะปลูกไม้ดอกเมืองหนาวหลายชนิดในประเทศดังกล่าว เช่น กุหลาบ เบญจมาศ เยอบีร่า ลิลลี่ กล้วยไม้ และแกลดิโอลัส เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกในปะเทศเหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและภูมิอากาศเหมาะสม อากาศค่อนข้างเย็น ค่าแรงต่ำ จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น

ประเทศคู่แข่งสำคัญของกล้วยไม้ไทยในยูเออี คือกล้วยไม้จากกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ เคนยา ซิมบับเว แทนซาเนีย   อูกันดา เอธิโอเปีย มาลาวี และแซมเบีย ที่สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกดอกไม้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยเฉพาะเคนยาจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาการส่งออกดอกไม้ เป็นอันดับสองของโลกรองจากโคลัมเบีย โดยเฉพาะกล้วยไม้จากแอฟริกาพันธุ์ Green cymbidium ที่มีความทนทานกับอากาศร้อนได้ดีได้รับความนิยมมากในยูเออี

ไต้หวันได้ชื่อว่าเป็นดินแดนปลูกกล้วยไม้ฟาแลนอปซิส (Phalaenopsis orchids) ที่ยูเออีนำเข้าทั้งกล้วยไม้กระถางมูลค่ามาก และชนิดกล้วยไม้ยอดนิยมสำหรับใช้ตกแต่งและมอบเป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ

อิสราเอลเป็นคู่แข่งใหม่ที่เริ่มเข้าตลาดดอกไม้ของยูเออีเมื่อปี 2563 หลังจากที่ 2 ประเทศได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า นอกจากนั้นยูเออีนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้กระถางจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด
           ผู้นำเข้าดอกไม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายส่งและขายปลีก มีร้านสาขาอยู่ทุกรัฐของยูเออี ร้านดอกไม้ขนาดใหญ่มีฝ่ายจัดซื้อในต่างประเทศ อาทิ ไทย มาเลเซีย กลุ่มประเทศแอฟริกา การส่งออกดอกไม้ของไทยไปยูเออีเป็นดอกกล้วยไม้เกือบทั้งหมด

สำหรับสัดส่วนช่องทางการนำเข้าดอกไม้สู่ตลาดยูเออี พอสรุปได้ดังนี้

– ผู้นำเข้า                  ร้อยละ 60
– ผู้ค้าปลีก                  ร้อยละ 30
– ออนไลน์และอื่นๆ        ร้อยละ 10

ภาษีและเอกสารประกอบการนำเข้า

  1. กฎระเบียบ: การนำเข้าดอกไม้จะต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อโรคและศัตรูพืช โดยแสดงใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) ที่มีข้อความระบุประเทศผู้ส่งออกไม่มีการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้(fall armyworm) ออกให้โดยกรมวิชาการเกษตรของไทย
  2. กระบวนการนำเข้า: ผู้นำเข้ายื่นเอกสาร Airway bill, Invoice, packing list, Phytosanitary certificate และเอกสารประกอบการนำเข้าอื่นๆ กับเจ้าหน้าที่ Dubai Municipality ณ สนามบินดูไบ ส่วน Cargo การส่งมอบสินค้าที่นำเข้าจะได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หลังจากสินค้ามาถึงท่าและได้ชำระภาษีอากรเรียบร้อยแล้ว ผู้นำเข้ามีความรับผิดชอบในการเตรียมสินค้าเพื่อการตรวจสอบและปล่อยสินค้าออกจากอารักขาของเทศบาลดูไบ ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะจ้างบริษัท shipping ในการออกสินค้า
  3. อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5 และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 5
  4. เอกสารประกอบการนำเข้า: ประกอบด้วย Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Airway Bill และ Packing List

สรุป และข้อคิดเห็น

  1. แนวโน้มตลาดกล้วยไม้ไทยเริ่มกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหารไทยผู้บริโภคนิยมใช้ตกแต่งสถานที่ ปัจจุบันผู้ค้าดอกไม้ในยูเออีเพิ่มช่องทางตลาด โดยการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ตรงสู่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
  2. ดอกกล้วยไม้มีรูปทรงและสีสันที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้ตกแต่งสวยงาม ถือเป็นดอกไม้ที่ตลาดมีความต้องการสูง และด้วยศักยภาพของการปลูกดอกกล้วยไม้ของผู้ผลิตไทย หลากหลายสายพันธุ์ ประกอบกับเป็นดอกไม้ที่มีความทนทาน ตรงกับความต้องการตลาดดอกไม้ในปัจจุบัน หากผู้ผลิตไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออกพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น กล่าวคือ ช่อดอกยาว ดอกสะอาด สีสันสดใส แข็งแรง อายุการใช้งานทนทานและทนในอากาศร้อนได้ดี ไม่มีตำหนิ ปลอดภัยจากสารเคมีและศัตรูพืช รวมถึง การวางแผนการผลิต หีบห่อ และการขนส่ง ให้ทันกับความต้องการของตลาดในช่วงเทศกาลต่างๆ มีการพัฒนาไม้ดอกสายพันธุ์ใหม่ๆ สม่ำเสมอ  คาดว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าการส่งออกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
  3. งานแสดงดอกไม้ที่สำคัญ คือ IPM Dubai (International Plants Expo Middle East) จัดขึ้นในเดือนพ.ย. 2566 ณ Dubai World Trade Center – Dubai International Convention and Exhibition Centre (DICEC) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  (https://www.ipm-dubai.net)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login