หน้าแรกTrade insightปาล์มน้ำมัน > รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคม 2561

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคม 2561

" รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคม 2561"

                    นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม และอนาคตปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ความคาดหวังในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการหางานทำเพิ่มขึ้นเช่นกัน

                    ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2561 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,589 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 37.1 ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 ที่มีค่า 36.3 จากความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า การหางานทำในปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคปัจจุบันสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

                    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.0 มาอยู่ที่ระดับ 29.9 สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลง จาก 35.8 มาอยู่ที่ 35.5 ขณะที่การหางานทำในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 24.3 มาอยู่ที่ 24.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.4 มาอยู่ที่ระดับ 41.8 สาเหตุสำคัญมาจาก ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการหางานทำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 45.6 45.9 และ 29.8 มาอยู่ที่ 47.8 47.8 และ 29.9 ตามลำดับ

                    ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งการวางแผนจะซื้อรถยนต์ และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.1 50.0 15.3 และ 22.7 มาอยู่ที่ 53.6 50.8 16.5 และ 23.5

ข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

  • ด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับล่าง ดูแลประชาชนให้เป็นหนี้น้อยลง 
    ไม่สนับสนุนสร้างหนี้เพิ่ม สร้างงาน และกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค จะได้มีเงินไม่ต้องย้ายที่อยู่เพื่อทำงาน ลดภาระค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดูแลราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ประกันราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรให้ราคาดี เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน หาช่องทางระบายผลไม้ เช่น มังคุด ลองกอง อย่างเป็นระบบ ควรทบทวนศึกษานโยบายการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ ได้แก่ ผลมะพร้าว และข้าวโพด เป็นต้น รวมทั้ง กระตุ้นให้เกิดการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนของนักธุรกิจ ผ่านโครงการรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน กระตุ้นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารให้สูงขึ้น แก้ไขปัญหาการว่างงาน การบริหารการเงิน การคลัง และการธนาคาร ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การให้สินเชื่อผู้ประกอบการ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น
  • ด้านสังคม บริหารจัดการงานภาครัฐบาล กระจายงบประมาณสู่ชุมชนอย่างจริงจัง ปราบปรามการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านทุกๆ พื้นที่ให้เด็ดขาด ลดการเหลื่อมล้ำทางสังคม และช่องว่างระหว่างรายได้ แก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น แก้ไขกฎหมายการลงโทษให้เด็ดขาดกว่านี้ สร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนเข้าวัดฟังธรรมให้มากขึ้น แก้ไขปัญหาความยากจน ปากท้องของประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนด

 

 

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login