หน้าแรกTrade insightข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ > มาตรการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตร ปศุสัตว์และประมงของเกาหลีใต้

มาตรการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตร ปศุสัตว์และประมงของเกาหลีใต้

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (Ministry of Economy and Finance) เกาหลีใต้ ประกาศมาตรการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตร ปศุสัตว์และประมง เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของครัวเรือน โดยกล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติกำหนดมาตรการลดอัตราภาษีภายในโควตาสำหรับสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ 8 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายครัวเรือนจากราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น

สินค้าที่ได้รับการลดภาษีในครั้งนี้ ได้แก่ เนื้อหมูและปลาแมกเคอเรล รวมถึงวัตถุดิบต่างๆ ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายดิบ และ Crude alcohol สำหรับผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โซจู เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้มักเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาสินค้าขาดแคลนในระยะสั้น (Short-term supply shortage) และปัญหาจากการกำหนดราคาขายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กากข้าวโพด (Distillers grains) และกากเนื้อในเมล็ดปาล์ม (Palm kernel cake) ที่เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ก็ได้ถูกปรับลดอัตราภาษีเช่นเดียวกัน

นอกจากการปรับลดอัตราภาษีแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังวางแผนในการจัดการ Market Access Volume Rules ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อเพิ่มปริมาณโควตาในการนำเข้าขิงอีกด้วย เนื่องจากราคาของขิงได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

รายละเอียดของมาตรการลดอัตราภาษีและผลที่คาดว่าจะได้รับสำหรับสินค้าต่างๆ

  1. เนื้อหมู
    • ราคาเนื้อหมูคาดว่าสูงขึ้นประมาณ 17% ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากความต้องการเนื้อหมูเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมกลางแจ้งและการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานลดลงเนื่องจากราคานำเข้าสินค้าจากยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้น
    • การกำหนดอัตราภาษีโควตา 0% ในปริมาณสูงสุดถึง 45,000 ตัน จะช่วยลดปัญหาอุปทานและ อุปสงค์ที่ไม่มั่นคงในระยะสั้น โดยจะส่งผลให้ราคาผู้บริโภคมีเสถียรภาพ
    • รัฐบาลเกาหลีใต้จะติดตามสถานการณ์อุปทานและอุปสงค์ของตลาดอย่างรอบคอบ รวมถึงปรับอัตราภาษีโควตาเพื่อป้องกันความเสียหายของฟาร์มสุกรในประเทศจากการที่ราคาสินค้านำเข้าลดลง
  2. ปลาแมกเคอเรล
    • ในปีนี้ กำหนดอัตราภาษีโควตาของสินค้าปลาแมกเคอเรลที่ 0% แทนอัตราภาษีปัจจุบัน 10% ที่ปริมาณ 10,000 ตัน จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 จากปริมาณการผลิตปลาแมกเคอเรลจากนอร์เวย์ที่ลดลงที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
    • ปลาเค็มและเนื้อปลาที่เอาก้างออกแล้วถึงขนาดใหญ่พิเศษ 600 กรัม จึงถูกเพิ่มในการใช้อัตราภาษีโควตา เนื่องจากปลาแมกเคอเรลขาดแคลนในตลาด
  3. น้ำตาลทราย และน้ำตาลทรายดิบ
    • เกาหลีใต้มีการบริโภคน้ำตาลประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งประมาณ 100,000 ตันมาจากการนำเข้า นอกจากนั้น ได้จากการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบและแปรรูปกลายเป็นน้ำตาลทราย
    • ปัจจุบัน ราคาของน้ำตาลในตลาดโลกกำลังสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงออกมาตรการกำหนดอัตราภาษีโควตา 5% แทนอัตราภาษีเดิมที่ 30%
    • อย่างไรก็ตาม มีการลดการผลิตวัตถุดิบ เช่น อ้อย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศอินเดียและประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก ส่งผลให้ราคาน้ำตาลระหว่างประเทศสูงขึ้น และคาดว่าราคาน้ำตาลในประเทศเกาหลีจะเพิ่มขึ้นตาม
    • ด้วยเหตุนี้ จึงกำหนดอัตราภาษีน้ำตาลทราย ที่ 0% ภายในปริมาณ 105,000 ตัน และลดภาษีน้ำตาลทรายดิบจาก 3% เป็น 0% โดยไม่จำกัดปริมาณ เพื่อขยายการนำเข้าจากประเทศนอกเขตการค้าเสรี เช่น บราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตหลักในช่วงครึ่งปีหลัง
  4. Crude alcohol
    • Crude alcohol เป็นวัตถุดิบในการผลิตโซจู ปัจจุบัน อัตราภาษี 0% จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนมิถุนายน แต่เนื่องจากราคาน้ำตาลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และอ้อยที่เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตน้ำตาลก็มีราคาสูงขึ้นไปด้วย จึงขยายการใช้อัตราภาษี 0% ไปจนถึงครึ่งปีหลัง ในปริมาณ 86,000 กิโลลิตร เพื่อลดแรงกดดันในการขึ้นราคาโซจูและลดภาระสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน
  5. กากเนื้อในเมล็ดปาล์ม และกากข้าวโพด
    • กากเนื้อในเมล็ดปาล์มและกากข้าวโพดที่ได้จากการผลิตน้ำมันและ Bioethanol ถูกนำเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน ราคากำลังเพิ่มสูงขึ้น
    • แม้ว่าจะนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาที่มีการลงนาม FTA แต่ล่าสุด ประเทศที่ไม่ได้ลงนามใน FTA เช่น บราซิลและปาปัวนิวกินี มีการผลิตกากเนื้อในเมล็ดปาล์มและกากข้าวโพดเพิ่มขึ้นในราคาที่ถูกกว่า จึงคาดว่าหากนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ โดยใช้อัตราภาษีโควตา 0% แทนอัตราภาษีพื้นฐาน 2% ก็จะสามารถรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารสัตว์และลดภาระต้นทุนการผลิตของฟาร์มปศุสัตว์ได้
  6. ขิง
    • ขิงเป็นสินค้าการเกษตรที่เก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนถึงตุลาคม และจัดเก็บเพื่อบริโภคได้ภายในเดือนกันยายนของปีถัดไป
    • เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่ซบเซาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ราคาขิงเพิ่มขึ้นอย่างมากและคาดว่าราคายังคงสูงต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน รัฐบาลจึงวางแผนเพิ่มปริมาณโควตาอัตราภาษีของขิงสดสำหรับอาหาร 1,500 ตัน เป็น 3,360 ตัน ด้วยอัตราภาษี 20% ซึ่งมีอัตราภาษีนอกโควตาเป็น 377.3%
    • ระยะเวลาจำกัดถึงสิ้นเดือนกันยายนและปริมาณการนำเข้าจะมีการปรับให้เหมาะสม เพื่อลดความเสียหายของเกษตรกรในประเทศ

ความเห็นสำนักงานฯ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมงดังกล่าว เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลน และราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากกระบวนการผลิต ซึ่งในการปรับลดภาษีครั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย สินค้าอ้อยสำหรับผลิตน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งในปี 2565 เกาหลีนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปริมาณ 6.55 แสนตัน มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบที่ดีจากมาตรการลดอัตราภาษีดังกล่าว โดยอาจทำให้ขยายปริมาณการส่งออกมาได้เพิ่มขึ้น

นอกเหนือจากอ้อยสำหรับน้ำตาลทรายดิบ แนวโน้มของการนำเข้าขิงที่รวมกับสินค้าอื่นๆ ในประเภทเครื่องเทศ (Ginger, Saffron, Turmeric (Curcuma), Thyme, Bay leaves, Curry and other spices) จากไทยก็เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเช่นกัน ในปี 2565 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 321 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 7.49 แสนตัน สำหรับการส่งออกขิงมายังเกาหลีใต้แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ขิงที่ยังไม่ผ่านการบด (มูลค่า 696 เหรียญสหรัฐ ปริมาณ 2.95 หมื่นตัน) และขิงบด (มูลค่า 286 เหรียญสหรัฐ ปริมาณ 3.19 หมื่นตัน) จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกขิงในการส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ในการใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ การใช้มาตรการนี้ เกาหลีใต้ได้ระบุระยะเวลาและปริมาณสินค้านำเข้าที่จะได้ลดภาษี แต่ไม่ระบุประเทศส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรจะเร่งใช้ประโยชน์จากมาตรการการลดภาษีนี้ เพื่อขยายการส่งออกจากไทยมาเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

12 มิถุนายน 2566

ที่มา :

(1) www.moef.go.kr/nw/nes/detailNesDtaView.do?searchBbsId1=MOSFBBS_

(2) www.kita.net

Login