หน้าแรกTrade insightข้าว > พาณิชย์ชี้ช่องทางส่งออกข้าวไทยปี 2563 ยังขยายตัวได้เล็กน้อยแม้ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

พาณิชย์ชี้ช่องทางส่งออกข้าวไทยปี 2563 ยังขยายตัวได้เล็กน้อยแม้ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

     นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการส่งออกข้าวในปี 2563 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากโอกาสการส่งออกข้าวเพื่อเติมสต็อกของประเทศคู่ค้าบางประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้ในหลายตลาด แม้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ต้องเฝ้าระวัง

     สนค. คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวในปี 2563 จะกลับมาขยายตัว หลังจากต้องเผชิญปัจจัยลบต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งจากการที่รัฐบาลจีนระบายสต็อกข้าวเก่าของปี 2558 จำนวนกว่า 3 ล้านตัน ไปสู่ตลาดต่างๆ รวมทั้งภายในจีนเองด้วย ซึ่งรัฐวิสาหกิจจีนเพิ่มสัดส่วนการประมูลสต็อกข้าวในประเทศแทนการนำเข้า ประกอบกับการระบายข้าวจีนไปตลาดแอฟริกา ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดแอฟริกาลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งที่อาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

     ผอ.สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้จะมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน แต่การส่งออกข้าวไทยยังมีโอกาสขยายตัวในปีนี้ ตลาดจีนยังมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง จีนนำเข้าข้าวโดยเฉลี่ยจากทั่วโลกประมาณ 3 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2562 จีนประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนตกต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตรวมในประเทศ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนในเดือนมกราคม 2563 พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดอาหารสูงขึ้นร้อยละ 15.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยข้าวมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5 จึงเป็นโอกาสของข้าวไทยในตลาดจีน นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันให้สามารถเร่งส่งออกข้าวไปจีนโดยเร็ว โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563) ได้เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อสามารถส่งมอบข้าว 3 แสนตันตามสัญญาจีทูจีระหว่างไทยจีนที่เหลืออยู่ให้ครบตามสัญญา นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้จีนเร่งขึ้นทะเบียนผู้ผลิตแปรรูปข้าวของไทยล็อตที่ 2 ซึ่งสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนรับปากที่จะเร่งพิจารณา ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับสองของไทย รองจากสหรัฐฯ โดยในปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าข้าวไทยเป็นมูลค่า 303.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

     สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยังมีความต้องการข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 622.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 13.3 โดยข้าวที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นข้าวหอมมะลิ ในส่วนของตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในปี 2563 ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และแคนาดา (ปี 2562 ไทยส่งออกข้าวเป็นมูลค่า 189.8 111.4 และ 107.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ) โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น และแคนาดา ในปีที่ผ่านมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.0 และ 22.6 สำหรับตลาดฟิลิปปินส์ คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวเพิ่มได้ เนื่องจากเหตุการณ์ภูเขาไฟตาอัลปะทุ ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของฟิลิปปินส์เสียหายหนัก ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีข้าวในสต็อก 18.7 ล้านตัน เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศได้ 58 วันเท่านั้น (ปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 124.1 ล้านเหรียญสหรัฐ)

     สำหรับปัจจัยด้านคู่แข่งในตลาดข้าว ผู้ส่งออกข้าวอินเดียได้รับผลกระทบอย่างหนักในตลาดยุโรป เนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารตกค้างในข้าวเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้ตลาดยุโรปลดการนำเข้าข้าวจากอินเดีย ประกอบกับผู้ส่งออกอินเดียขาดสภาพคล่องจากที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าข้าวจากอิหร่าน สาเหตุจากการที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันการค้ากับอิหร่าน จึงอาจส่งผลให้การส่งออกข้าวอินเดียล่าช้า ซึ่งคาดว่าข้าวจากเวียดนามจะเข้ามาแทนที่ส่วนแบ่งตลาดอินเดียที่หายไป อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยก็มียังโอกาสในตลาดยุโรป โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวไปยุโรปเป็นมูลค่า 234.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.6 ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ตรวจสอบและระมัดระวังเรื่องสารตกค้าง ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าไทยคงศักยภาพในการส่งออกได้ต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login