หน้าแรกTrade insightข้าว > ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกไม่ปกติส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารครั้งใหม่ในเคนยา

ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกไม่ปกติส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารครั้งใหม่ในเคนยา

ด้วยราคาวัตถุดิบหลักสำคัญในประเทศเคนยา อย่างเช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำตาล และหัวหอมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้เกิดวิกฤติอาหารครั้งใหม่ในประเทศ อีกทั้งนโยบายเรื่องการระงับการส่งออก การกักเก็บสินค้าข้าวไว้บริโภคภายในประเทศของอินเดีย และข้าวสาลีในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ทำให้การจัดหาข้าว และข้าวสาลีเข้าสู่ประเทศเคนยาเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แม้กระทั่งการนำเข้าหัวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแทนซาเนีย   ก็มีเหตุให้ทำได้ยากขึ้นด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการปลูกทำให้เกิดการขาดแคลน และยากที่จะส่งออกมาขายนอกประเทศเช่นที่เคยส่งออกมาที่เคนยา

สินค้าบริโภคหลักๆ อย่างข้าวสาลีนั้น ยังมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก หลังจากที่รัสเซียที่ยังคงมีข้อพิพาทกับยูเครน ได้ถอนตัวจากข้อตกลงที่อนุญาตให้ส่งออกสินค้าเกษตรของยูเครนผ่านช่องทางที่ปลอดภัยตามเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านทะเลดำ และการโจมตีด้วยระเบิดได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐาน สถานที่เก็บผลผลิตของยูเครน ได้เพิ่มความกังวลว่าห่วงโซ่อุปทานของอาหารโลกจะหยุดชะงัก และตามมาด้วยราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของทวีปแอฟริกาให้มากยิ่งขึ้น

ผลกระทบที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานครั้งล่าสุดนี้ก่อให้เกิดวิกฤติทางอาหาร อันเป็นผลพวงมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ราคาสินค้าด้านอาหารหลายชนิดในเคนยา อาทิ เช่น น้ำมันชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการบริโภค ข้าวโพด และข้าวสาลี เป็นต้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเหล่านักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า วิกฤติทางด้านอาหารครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศต้องย้อนกลับไปสู่ความขาดแคลนอีกครั้งหลังจากที่พยายามฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่าในเดือน กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปัจจุบัน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ +7.3

อย่างไรก็ดี เคนยายังคงพยายามที่จะเพิ่มผลผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศให้มีมากขึ้น ตามนโยบายของประธานาธิบดี วิลเลี่ยม รูโต ที่พยายามเพิ่มรายได้ให้กับประเทศจากการผลิตอาหาร นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ นาย รูโต ได้มีนโยบายต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ นโยบายอุดหนุนส่วนต่างๆ ของราคาปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายที่พุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก โดยมองว่า พื้นที่เพาะปลูกในประเทศเคนยามีจำกัด และจำนวนประชากรมีเพิ่มมากขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ วิธีเดียวที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้คือการใช้ปุ๋ยที่ดี คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงต่อการบริโภค โดยจะเห็นได้จากที่เคนยาพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่ในการปลูกข้าวให้มากขึ้นเป็นต้น

 

ความเห็นของ สคต.

จากข่าวในข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า เคนยาเป็นประเทศหนึ่งในแอฟริกาที่ประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 6-8 % ในปี 2566 ทำให้เคนยาพยายามที่จะปรับปรุงนโยบายในการช่วยให้การผลิตพืชด้านอาหารต่างๆ ให้สามารถมีผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งการใช้นโยบายที่สนับสนุนปัจจัยด้านการผลิต เช่น ปุ๋ย เป็นต้นนั้น ถือว่าเป็นนโยบายที่น่าจะเดินทางมาถูกทาง

ในส่วนผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากสถานการณ์นี้ สคต.เห็นว่ามีประเด็นที่ควรให้ความสนใจดังนี้

  1. คาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้าข้าวจากแหล่งนำเข้าอื่นมากขึ้น เช่น ข้าวจากไทย (ทั้งข้าวขาวและหอมมะลิ) น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เนื่องจากแหล่งนำเข้าเดิมมีปัญหาไม่สามารถนำเข้าได้
  2. ผู้มีรายได้น้อยจะมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพในเรื่องอาหารจะยิ่งมีการเพิ่มในอัตราที่เร็วและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่พอใจและประท้วงเป็นระยะ ตามที่ได้
  3. เคนยาจะเร่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพิชด้านอาหารโดยเฉพาะพืชด้านอาหาร เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม แต่การขยายพื้นที่และผลิตจะต้องเผชิญภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง และนโยบายนี้ จะนำมาซึ่งการนำเข้าเครื่องจักรทางการเกษตรมากขึ้น ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาจะเห็นอย่างเป็นรูปธรรม 2-3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่จะได้ประโยชน์มากขึ้น ถ้าเข้ามารุกและทำตลาดในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
  4. แม้จะมีการส่งเสริมการผลิตสินค้าอาหารในประเทศเคนยามากขึ้น แต่การเพิ่มผลิตที่ว่านี้ จะยังไม่สามารถขยายตัวได้เท่ากับความต้องการของคนที่มีสูงมากกว่าจนเคนยาต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต เนื่องระบบชลประทานยังไม่ดีพอ และมีพื้นที่เพาะปลูกที่มีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งที่ผ่านมาผลผลิตต่อไร่ของหลายสินค้า เคนยาก็มีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่นๆในแอฟริกา
  5. ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้บริโภค ผู้นำเข้า มีกำลังชื้อที่ลดลง และจะทำให้เคนยามีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำได้ โดยเคนยามีเป้าหมายให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 7 แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้อเคนยาเพิ่มขึ้นในระดับ 8-9% ต่อเดือน และคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี สคต.มองว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับ 9-11% ในช่วง 5 เดือนหลังในปี 2566 นี้ (ส.ค.-ธ.ค. 2566) ซึ่งอาจส่งผลการส่งออกของไทยขยายตัวได้ลดลงประมาณ 3-5% ในปี 2566 นี้

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : The EastAfrican

Login