หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > “บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้รายใหญ่ Dole นำเสนอวิธีรับประทานกล้วยดิบ” เพื่อลด food loss และมุ่งเน้น SDGs

“บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้รายใหญ่ Dole นำเสนอวิธีรับประทานกล้วยดิบ” เพื่อลด food loss และมุ่งเน้น SDGs

บริษัท dole ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผักผลไม้สดและแปรรูปทั่วโลกมากว่า 160 ปี โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริษัท dole ประเทศญี่ปุ่นได้แถลงการณ์ว่า บริษัทจะจำหน่ายกล้วยดิบที่ยังไม่มีการวางจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นกล้วยไม่ได้มาตรฐาน และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “mottainai banana” (เสียดายกล้วย) ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะนำเสนอวิธีการรับประทานกล้วยดิบในรูปแบบการรับประทานผัก เป็นการสร้างมูลค่าในสามด้าน ได้แก่ ความอร่อย สุขภาพและความงาม จริยธรรม เพื่อเป็นผู้นำในการผลิตและการบริโภคผลไม้อย่างยั่งยืน และในวันเดียวกัน บริษัทยังได้ประกาศ brand message ใหม่อีกด้วย ประธานบริษัทได้กล่าวว่า “ภารกิจที่สำคัญของบริษัท คือ การผลิตและจำหน่ายผลไม้ได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต และจะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความงาม รวมถึงความสุขของผู้บริโภค นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นความสำคัญด้าน SDGs มากยิ่งขึ้น”
บริษัทจะจำหน่ายกล้วย “dole green banana” ซึ่งเป็นกล้วยดิบสีเขียวที่ยังไม่ผ่านการอบความร้อน โดยจะเริ่มจำหน่ายในฤดูร้อนนี้ เป็นแผนภายใต้โครงการ “mottainai banana” ที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างมีจริยธรรม และการลด food loss
ในทุกปี บริษัทต้องกำจัดกล้วยที่ไม่ได้มาตรฐานถึง 20,000 ตันต่อปี ซึ่งบริษัทพยายามที่จะทำให้เหลือ 0 ถึงแม้จะสามารถรับประทานได้อย่างอร่อยแต่ก็ต้องถูกกำจัดทิ้งระหว่างการส่งสินค้าเพราะไม่ได้มาตรฐาน บริษัทจึงวางแผนกู้ชีพกล้วยเหล่านั้นด้วยโครงการ “mottainai banana” ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 และจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ มีบริษัทกว่า 30 บริษัทเข้าร่วมโครงการ มีการใช้กล้วยไม่ได้มาตรฐานกว่า 4.5 ล้านลูกโดยนำมาใช้ในอาหารแปรรูป เช่น น้ำผลไม้ เป็นต้น
สินค้าใหม่ “Dole green banana” นั้น ไม่ใช่ผลไม้รับประทานสด แต่เป็นกล้วยที่สามารถอุ่นด้วยไมโครเวฟ เป็นวัตถุดิบที่ใช้เวลาสั้นและสะดวกในการทำรับประทาน เพียงตัดปลายกล้วยทั้งสองด้านออก นำไปแร็บและอุ่นไมโครเวฟ โดยกล้วย 1 ลูกใช้เวลาประมาณ 2 – 3 นาที และสามารถปอกเปลือกรับประทานได้ทันที โดยเนื้อกล้วยจะมีความนุ่มฟูลักษณะคล้ายมันสำปะหลังและเกาลัด และด้วยรสชาติที่อ่อนกว่ากล้วยสุก ทำให้สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้มากมาย เช่น ใส่ในแกงกะหรี่ หรือผักสลัด ฯลฯ
นอกจากนี้ บริษัทได้จัดกิจกรรม “Dole Fruits Smile Stand” เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้และสัมผัสถึงเสน่ห์ของผลไม้ โดยจัดถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ณ ITOCHU SDGs STUDIO มีการนำกล้วยไม่ได้มาตรฐานใช้เป็นวัตถุดิบไอศกรีมซึ่งเป็นการ collaborate กับร้านไอศกรีมชื่อดังอีกด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการบริโภคกล้วยหอมเป็นจำนวนมาก แต่มีผลผลิตภายในประเทศต่ำจึงจำเป็นต้องนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศ โดยในแต่ละปีมีการนำเข้าถึงกว่า 1 ล้านตัน แหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าในปี 2565 สูงถึงร้อยละ 76 โดยมีประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 9
แม้ว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 จะให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยหอมจากประเทศไทยเป็นโควต้าส่งออกจำนวน 8,000 ตันแรกก็ตาม แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกได้สูงสุดเพียง 2,890.44 ตัน ในปี 2564 เท่านั้น โดยมีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ราคากล้วยของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จำนวนผลผลิตกล้วยไทยที่ไม่สามารถส่งออกได้ในปริมาณมากตลอดทั้งปี และมาตรการของประเทศไทยในการควบคุมการจัดการสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น (Control Measure) ซึ่งมีความเข้มข้นการควบคุมการบริหารจัดการในระดับสูง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ได้เห็นโอกาสในการส่งออกกล้วยไทยมาญี่ปุ่น และจัดตั้งโครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วย ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย เพื่อขยายตลาดส่งออกสู่ตลาดเมืองรองในญี่ปุ่น เพื่อผลักดันและส่งเสริมการส่งออกกล้วยไทยคุณภาพสู่ประเทศญี่ปุ่น

ที่มา :

————————————–
ฉบับที่ 45 ประจำวันที่ 5 – 11 สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
————————————–
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/news/takagi20230726015104704

Login