หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > ตลาดอาหารทางเลือกของเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมอาหารเติบโตใหม่

ตลาดอาหารทางเลือกของเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมอาหารเติบโตใหม่

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคเกาหลีใต้รู้สึกตื่นตัวต่อการรักษาสุขภาพและให้ความสนใจต่อสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น โดยพฤติกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติและสินค้าอาหารทางเลือกรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นในตลาดอาหารของเกาหลีใต้ ซึ่งสินค้าอาหารทางเลือกนี้ เป็นผลผลิตจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านอาหารที่นำโปรตีนทางเลือกที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์มาแปรรูป นอกจากนี้ ยังมีอาหารทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียง Plant-based meat ก็เริ่มการผลิตเช่นกัน

ภาพรวมตลาด

  • ความหมายของ “อาหารทางเลือก”
    • กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (Ministry of Food and Drug Safety : MFDS) ได้ให้คำจำกัดความของ “อาหารทางเลือก” หมายถึง อาหารที่ระบุว่ามีการใช้วัตถุดิบหลักเป็นพืช จุลินทรีย์ แมลงที่กินได้ หรือเซลล์เพาะเลี้ยง โดยผลิตให้มีรูปร่าง รสชาติ เนื้อสัมผัสและอื่นๆ คล้ายคลึงกับอาหารที่ใช้ส่วนผสมจากเนื้อสัตว์
    • MFDS ได้กำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดใหม่สำหรับอาหารทางเลือกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
  • ประเภทของอาหารทางเลือก แบ่งหลักๆ เป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
    • อาหารทางเลือกจากพืช ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้โปรตีนสกัดจากพืชและสาหร่ายทะเลเป็นวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์จากพืช อาหารทะเลจากพืช และผลิตภัณฑ์นมจากพืช โดยจะมีรูปร่างและรสชาติคล้ายกับอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมวัวทั่วไป
    • อาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell Cultured Food, Lab-grown Food) ได้แก่ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง อาหารทะเลเพาะเลี้ยง และผลิตภัณฑ์นมเพาะเลี้ยง โดยมีขั้นตอนการผลิตผ่านเทคโนโลยีการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อจากสเต็มเซลล์ของสัตว์และเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง
    • อาหารหมักจุลินทรีย์ เป็นอาหารที่ใช้จุลินทรีย์ เช่น ยีสต์และแบคทีเรีย ในการผลิต เพื่อเลียนแบบรสชาติของเนื้อหรือไขมันจากนม
    • อาหารจากแมลง เป็นอาหารที่ผลิตหรือแปรรูปจากผงโปรตีนที่สกัดจากแมลงที่กินได้ ในปี 2566 MFDS ได้รับรองความปลอดภัยและอนุญาตให้ใช้แมลง 10 ชนิดเป็นส่วนประกอบอาหาร ได้แก่ หนอนไหมอบแห้ง ตั๊กแตนหนวดสั้น ตัวอ่อนหนอนไหม ตัวอ่อนหนอนนก ตัวอ่อนด้วงดอกไม้จุดดาวใหญ่ ตัวอ่อนด้วงกว่าง จิ้งหรีดทองดำ ตัวอ่อนหนอนนกยักษ์ ดักแด้ผึ้งตัวผู้ ตั๊กแตน

ขนาดตลาดอาหารทางเลือกของเกาหลี

  • ปัจจุบัน ขนาดของตลาดสินค้าอาหารทางเลือกยังไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ โดยมีเพียงการวิเคราะห์และคาดการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันวิจัย ดังนี้

1. ตลาดอาหารเนื้อจากพืช

    • MFDS ได้คาดการณ์ขนาดตลาดเนื้อสัตว์จากพืชของเกาหลี มูลค่า 2.12 หมื่นล้านวอนในปี 2565

2. ตลาดสินค้านมจากพืช

    • อ้างอิงจากรายงานของ Expert Market Research พบว่า ในปี 2566 ตลาดนมจากพืชมีมูลค่ากว่า 52.34 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอุตสาหกรรมนมจากพืชในเกาหลีคาดว่าจะเติบโตที่ CAGR 2% ระหว่างปี 2567 ถึง 2575 และจะมีมูลค่าถึง 116.31 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2575

3. ตลาดอาหารแมลง

    • จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร อาหารและการชนบท (Ministry of Agriculture, Food and Rural Affairs : MAFRA) ขนาดตลาดอาหารแมลงในปี 2565 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านวอน ลดลง 13.6% จากปีก่อน

4. ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein)

    • จากข้อมูลของ Korea Rural Economic Institute ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) มีขนาดเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ในปี 2569 จะมีมูลค่าถึง 216 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตารางที่ 1 ขนาดของตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ในเกาหลี

 

ช่องทางการจำหน่ายสินค้า

  • Korea Rural Economic Institute ระบุว่า ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชของเกาหลีแบ่งหลักๆ ได้แก่ B2B และ B2C โดยคาดว่า ในปี 2569 สัดส่วนของทั้งสองตลาดจะเป็น B2C 8% และ B2B 41.2%
  • ภายใต้ช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ B2C จะใช้ช่องทางออนไลน์ในสัดส่วนสูงสุด รองลงมาด้วย การนำเข้าโดยตรง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตามลำดับ

ตารางที่ 2  ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในเกาหลี

 

ชนิดของสินค้าอาหารทางเลือกและแนวโน้มการนำเข้า

  • ตามข้อมูลจาก Food Information Statistics System ณ ปี 2565 ระบุว่า ในเกาหลีใต้มีบริษัทอาหารทางเลือกทั้งหมด 239 บริษัท ประกอบด้วยผู้ผลิต 178 บริษัท (74.5%) และผู้นำเข้า 61 บริษัท (25.5%) และมีอาหารทางเลือกทั้งหมด 1,028 ชนิด แบ่งออกเป็น 796 ชนิดที่ผลิตในประเทศ (77.4%) และ 232 ชนิดที่นำเข้ามา (22.6%)

แผนภูมิที่ 1 ชนิดของอาหารทางเลือกที่จำหน่ายในตลาดเกาหลี

แผนภูมิที่ 2 ชนิดของอาหารทางเลือกนำเข้าที่จำหน่ายในตลาดเกาหลี

  • แนวโน้มการนำเข้าอาหารทางเลือกมายังเกาหลีใต้
    • การนำเข้าอาหารทางเลือกมีปริมาณถึง 2,638 ตัน ณ ปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 11 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณการนำเข้าเพียง 243 ตัน
    • ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์หลังสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งเสริมและสร้างการรับรู้ต่อตลาดอาหารทางเลือกในเกาหลีเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าอาหารทางเลือกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดอาหารทางเลือกมีความต้องการต่อสินค้าที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ตารางที่ 3 ปริมาณการนำเข้าอาหารทางเลือกของเกาหลี

 

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทางเลือก

  • กระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบท (MAFRA) ได้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารทางเลือกเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตใหม่ ซึ่งประกอบด้วย อาหารเฉพาะบุคคลและมีความพิเศษเฉพาะตัว (Customized and Specialty) อาหารฟังก์ชัน (Functional) อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally friendly) และอาหารมุ่งเน้นการส่งออก (Export-oriented) โดยอาหารทางเลือกจะอยู่ในหมวดอาหารเฉพาะบุคคลและมีความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการแปรรูป
  • กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (MFDS) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจากประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานและข้อกำหนดอาหาร พ.ศ. 2566-2599 (เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566) ได้ระบุถึง คำจำกัดความของอาหารทางเลือก ข้อกำหนดสำหรับวัตถุดิบ มาตรฐานการผลิตและการแปรรูป รวมถึง ข้อกำหนดอื่นๆ

การพัฒนาอาหารทางเลือกของเกาหลี

  • เนื้อสัตว์จากพืช
    • บริษัทอาหารขนาดใหญ่ในประเทศหลายรายได้เริ่มเป็นผู้นำในการผลิตและพัฒนาเนื้อจากพืชเอง เช่น CJ Cheil Jedang Pulmuone และ Lotte Well Food กำลังเปิดตัวแบรนด์เนื้อสัตว์จากพืชและขยายสายผลิตภัณฑ์
    • อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทขนาดใหญ่กำลังอยู่ในช่วงขยายตลาด แต่ระดับความนิยมโดยรวมก็ยังคงอยู่ในระดับน้อย

ตารางที่ 4 ผู้ผลิตสินค้าเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) ในเกาหลี

  • นมจากพืช
    • นอกจากนมถั่วเหลืองซึ่งคิดเป็น 80% ของตลาดสินค้านมจากพืชในเกาหลีแล้ว สัดส่วนของนมจากพืชอื่นๆ ก็ยังถือว่าอยู่ในการเติบโตขั้นต้น
    • ในประเทศเกาหลี นมถั่วเหลืองถูกจัดแยกเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทดแทนนมวัว ซึ่งแตกต่างกับคำจำกัดความของนมจากพืชเพื่อทดแทนการรับประทานนมวัวและใช้วัตถุดิบโปรตีนจากพืชแทน เช่น อัลมอนด์และข้าวโอ๊ต หรือ นมทางเลือกที่อาศัยการหมักจุลินทรีย์และการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ยังไม่พัฒนามากนัก

ตารางที่ 5 ผู้ผลิตนมจากพืช (Plant-based Milk)

  • อาหารทะเลจากพืช
    • บริษัทเกาหลีขนาดใหญ่บางแห่งได้ทำการลงทุนในบริษัทอาหารทะเลทางเลือกของต่างประเทศหรือเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของตัวเองเช่นกัน แต่ก็ยังคงอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนา
  • Cell Cultivated Food
    • ตลาดเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์ในเกาหลียังอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการผลิตในตลาดโลก โดยระดับการวิจัยเกี่ยวกับอาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยงในเกาหลีอยู่ที่ 60% เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและมีช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างกันถึง 4-5 ปี

ตารางที่ 6 สตาร์ทอัพและผู้ผลิต Cell Cultivated Food

  • อาหารจากแมลง
    • ขนาดการผลิตและจำหน่ายอาหารแมลงยังคงมีขนาดเล็กในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพผู้ผลิตโปรตีนสกัดจากแมลงกำลังขยายตลาดจากการได้รับเงินลงทุนหรือลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัทขนาดใหญ่

ตารางที่ 7 ผู้ผลิตอาหารจากแมลง

  • บริษัทผลิตอาหารทางเลือกรายใหญ่ในเกาหลี

ตารางที่ 8 ผู้ผลิตอาหารทางเลือกรายใหญ่

 

พฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลีในตลาดอาหารทางเลือก

  • ช่องทางการซื้อของลูกค้า
    • ผู้บริโภคเกาหลีส่วนใหญ่นั้น เลือกซื้ออาหารทางเลือกผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ถึง 0% และผ่านช่องทางออนไลน์ของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 20.0%

แผนภูมิที่ 3 ช่องทางการซื้ออาหารทางเลือกของผู้บริโภค

  • ปัจจัยของผู้บริโภคในการพิจารณาซื้ออาหารทางเลือก
    • โดยส่วนใหญ่ ผู้บริโภคมักจะคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและส่วนผสมทางโภชนาการ (0%) เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาด้วย รสชาติ ความปลอดภัยของอาหาร และราคา ตามลำดับ

แผนภูมิที่ 4 ปัจจัยการพิจารณาของผู้บริโภค

 

โอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในตลาดสินค้าอาหารทางเลือก

  • ผู้บริโภคเกาหลีบางส่วนของเกาหลีใต้ได้ตระหนักและให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตอาหารขาดแคลนที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์เป็นอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์มากขึ้น
    • คาดว่าจะแนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารทางเลือกนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง อัตราการจำหน่ายและนำเข้าอาหารทางเลือกมีการเพิ่มขึ้นทุกปี
  • ในเกาหลี อาหารทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์จากพืช ถือว่าอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสร้างตลาดสินค้าอาหารทางเลือกให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าร่วม ดังนั้น สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะมีโอกาสมากมายสำหรับผู้ประกอบการจากไทยในการเข้าสู่ตลาด

ความเห็นสำนักงานฯ ตลาดสินค้าอาหารทางเลือกนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่จะผลักดันความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารของเกาหลีได้ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่แปรรูปโปรตีนทางเลือกจากวัตถุดิบหลายชนิด อย่างเช่น ถั่ว สาหร่าย หรือแมลง รวมถึง เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ให้กลายเป็นสินค้าอาหารทางเลือกในรูปแบบใหม่และสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดสินค้านี้ได้ ทดแทนอาหารจากเนื้อสัตว์ที่อยู่ในภายใต้สถานการณ์ของต้นทุนและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แม้ตลาดนี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับสินค้าอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์โดยทั่วไปแล้ว ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มของตลาดยังเป็นที่น่าจับตามองจากทั้งรัฐบาลและเอกชนในการลงทุนและผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตหลัก โดยปัจจุบัน มีผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จำนวนมากที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองและจัดจำหน่ายผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ของห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตหลัก ซึ่งการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์นั้น ได้มีการจัดตำแหน่งวางและแยกออกจากสินค้าอาหารทั่วไปได้อย่างดี เป็นที่สังเกตได้ง่ายแก่ผู้บริโภค รวมถึง สตาร์ทอัพรายใหม่ที่ผลิตและพัฒนาสินค้าอาหารทางเลือกออกในตลาดมาเช่นกัน

 

สำหรับโอกาสของสินค้าอาหารทางเลือกจากไทยนั้น แม้แนวโน้มของอาหารทางเลือกในไทยก็ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็เป็นที่สนใจของอุตสาหกรรมที่ทั้งบริษัทรายใหญ่และรายย่อย ซึ่งต่างก็เปิดตัวสินค้าออกมาในตลาดในปัจจุบัน และคาดว่าการแข่งขันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก คล้ายคลึงกับสถานการณ์ของเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้ การขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้จึงมีโอกาสเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน หรือวัตถุดิบชนิดต่างๆ ก็ถือเป็นวิธีการร่วมมือทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมการค้าระหว่างกันได้

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

29 มกราคม 2567

 

ที่มาข้อมูล:

(1) 2023 Processed Food Status, 2023.10.18, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(2) Climate Crisis and Alternative Food, the Rise of Foodtech, 2022.12, Deloitte

(3) Future Food, Investment Trend on Alternative Food, 2022.03, SamjungKPMG

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดอาหารทางเลือกของเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมอาหารเติบโตใหม่

Login