หน้าแรกTrade insightข้าว > “ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำของจีน” อีกหนึ่งโอกาสทองของผู้ประกอบการสินค้าอาหาร

“ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำของจีน” อีกหนึ่งโอกาสทองของผู้ประกอบการสินค้าอาหาร

ค่าดัชนีน้ำตาล (GI : Glycemic Index) เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือด หลังจากรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด หากรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง อย่างเช่น ข้าวเหนียว อาหารทอด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และของหวาน จะส่งผลให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ค่าดัชนีน้ำตาลของอาหารจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่ต้องการควบคุม/ลดน้ำหนัก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และกลุ่มคนที่มีภาวะบกพร่องด้านสุขภาพ

ในปี พ.ศ. 2553 องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้เผยแพร่วิธีการกำหนดค่า GI ที่ละเอียด ซึ่งได้แบ่งอาหารตามค่าดัชนีน้ำตาลออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูง (70 ขึ้นไป) ระดับกลาง (56 – 69) และระดับต่ำ (0 – 55)

ตามรายงานที่เกี่ยวข้องจาก Nanfang Daily ระบุว่า ในปี 2564 ขนาด/มูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพที่มีค่า GI ต่ำของจีนสูงถึง 176,200 ล้านหยวน (ประมาณ 881,000 ล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีมากกว่าร้อยละ 10  และข้อมูลของ JD.com ระบุว่า ในปี 2565 มูลค่าการซื้อ/ขายอาหาร GI ต่ำบนแพลตฟอร์ม JD Supermarket ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจำนวนผู้ซื้ออาหาร GI ต่ำ เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปี 2566 จำนวนแบรนด์สินค้า GI ต่ำ ที่ได้รับการรับรอง[1]ที่เข้ามาวางจำหน่ายบน JD Supermarket จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า GI ของอาหาร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนประกอบของอาหารและการแปรรูปอาหาร ซึ่งวัตถุดิบอาหารและส่วนผสมเสริมของอาหารจัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่า GI ของผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งนี้ การใช้ส่วนผสมหลายชนิดรวมกันที่เป็นส่วนผสมที่มีค่า GI ต่ำ และการย่อยคาร์โบไฮเดรตช้าสามารถลดค่า GI ของอาหารได้ในระดับหนึ่ง อาทิ

เส้นใยอาหาร: เส้นใยอาหารเป็นสารประกอบโพลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ของกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้โดยลำไส้เล็กของมนุษย์ และยังช่วยให้อัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตในอาหารช้าลงด้วย ดังนั้น เส้นใยอาหารจึงสามารถลดค่า GI ของอาหารได้ในระดับหนึ่ง

โพลิฟีนอล (Polyphenol) : โพลิฟีนอลเป็นสารประกอบเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งพบได้ในพืช ผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลือง ชา โกโก้ และแอลกอฮอล์ ซึ่งโพลิฟีนอลสามารถลดอัตราการดูดซึมแป้ง  ทั้งยังสามารถยับยั้งการดูดซึมและการขนส่งน้ำตาลกลูโคสในลำไส้ได้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล: เมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย น้ำตาลที่มีค่า GI ต่ำ มีลักษณะการย่อยและการดูดซึมที่ช้า ซึ่งสามารถช่วยควบคุมการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในกระแสเลือดหลังการรับประทานอาหาร ตัวอย่างของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อย่างเช่น Isomalt, Coconut Palm Sugar, L-Arabinose

สารชนิดอื่นๆ เช่น สารสกัดจากใบหม่อน สารสกัดจากถั่วขาว เป็นต้น

[1] ตาม “กฎการดำเนินการรับรองอาหาร GI ต่ำ” ที่ออกโดย Zhongshi League (Beijing) Certification Center ระบุว่า บริษัทอาหารสามารถยื่นขอ “เครื่องหมายรับรองอาหาร GI ต่ำ” ในองค์กรรับรองที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน เช่น Global Green Alliance (Beijing) Food Safety Certification Center ทั้งนี้ เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน “การรับรองอาหาร GI ต่ำ” เท่านั้นที่สามารถใช้ “เครื่องหมายรับรองอาหาร GI ต่ำ” บนบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และในการประชาสัมพันธ์ได้ ซึ่ง “เครื่องหมายรับรองอาหาร GI ต่ำ” นี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้ชัดเจนในการเลือกซื้อสินค้าอาหาร GI ต่ำ

ก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ที่มี GI ต่ำจะกระจุกตัวอยู่ในวงการยาและแพทย์เป็นหลักเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มี GI ต่ำกำลังขยายไปสู่ตลาดอาหารฟังก์ชั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำชนิดต่างๆ กำลังเปิดตัวในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมอาหารชนิดต่างๆ อย่างเช่น เบเกอรี่ เครื่องดื่ม โยเกิร์ต อาหารทดแทน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล ควบคุมน้ำหนัก และอิ่มท้อง ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำที่จำหน่ายในตลาดจีนมีทั้งแบรนด์จีนและแบรนด์ต่างชาติ เช่น บะหมี่ black highland barley ที่ได้รับการรับรอง GI ต่ำของบริษัท COFCO, โยเกิร์ตปราศจากน้ำตาลซูโครส แบรนด์ Yili, ขนมปังที่เพิ่มสารสกัดจากใบหม่อน แบรนด์ Slowgar, น้ำผึ้ง GI ต่ำ แบรนด์ Capilano (ออสเตรเลีย), พาสต้า GI ต่ำ แบรนด์ Carboff (ญี่ปุ่น),  Coconut Palm Sugar แบรนด์ Natnat (ฟิลิปปินส์)  เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.

ในปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนที่มีความตระหนักในเรื่องสุขภาพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการลดน้ำตาลจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น จึงเกิดการส่งเสริม/พัฒนาตลาดอาหาร GI ต่ำของจีนอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญในเรื่อง “อาหารปราศจากน้ำตาลหรือไม่?” แต่ยังกังวลถึงเรื่อง “หลังจากการรับประทานอาหารแล้ว จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่?” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนจำนวนมาก (จากข้อมูลที่มีการเปิดเผย ระบุว่าปัจจุบันชาวจีนที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีจำนวนเกือบ 140 ล้านคน ส่วนชาวจีนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด)

ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการจีนบางแบรนด์ที่ประกอบกิจการเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำในตลาดจีน อย่างเช่น แบรนด์ Tangyoubaobao และแบรนด์ Slowgar  ขณะที่บริษัทอาหารชั้นนำก็เริ่มผลิตสินค้าส่งเข้าสู่สนามการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำด้วยแล้ว  อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเภท/ชนิดของผลิตภัณฑ์ GI ต่ำในตลาดจีนก็ยังมีไม่มากหรือยังไม่หลากหลายเท่าใดนัก แต่เป็นที่คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำจะเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและคุณภาพสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำ จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการสินค้าอาหารของไทยที่สนใจเจาะเข้าสู่ตลาดจีน

————————————————–

https://mp.weixin.qq.com/s/w-QyhFLNQa2UQkoutFmxOg http://www.360doc.com/content/23/0522/19/78328261_1081712795.shtml

https://baike.baidu.com/item/%E4%BD%8EGI%E9%A3%9F%E5%93%81%E8%AE%A4%E8%AF%81/60794696?fr=ge_ala

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login