ดัชนีเศรษฐกิจการค้า ประจำเดือนกรกฎาคม 2567
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 108.71 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.82 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.27 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) กลุ่มผลไม้สด (เงาะ ทุเรียน มะม่วง กล้วยน้ำว้า แตงโม ฝรั่ง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มผักสด (มะเขือเทศ ต้นหอม ขิง ฟักทอง แตงกวา) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า น้ำมันพืช มะนาว กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.50 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู สบู่ถูตัว ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น
เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) เร่งตัวขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (YoY)
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.18 ปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวกล่อง) และผลไม้สด (เงาะ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า) ขณะที่ผักสด (มะเขือเทศ มะนาว พริกสด ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักคะน้า ผักชี) ข้าวสารเจ้า และไก่ย่าง ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.21 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า) และเสื้อยืดบุรุษและสตรี เป็นต้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม – กรกฎาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (AoA)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ (1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ (2) ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (3) ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ (4) ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนสิงหาคม 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567) สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ (3) ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)