หน้าแรกTrade insightดัชนีเศรษฐกิจการค้า > อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับลดลงตามคาด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับลดลงตามคาด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับลดลงตามคาด

                    นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 107.25 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.76 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.47 (YoY) ปรับลดลงตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคายังคงปรับลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ    

                    อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.77 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 4 จาก 136 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)  

                    อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงร้อยละ 0.47 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

                    หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.57 ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลาทู ปลากะพง) ผักสด (มะนาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ) เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (พิซซา) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมสด องุ่น ส้มเขียวหวาน น้ำตาลทราย กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน  

                    หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.40 ตามค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล ที่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ เสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเสื้อผ้าเด็ก สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น) รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า) ราคาปรับลดลง สินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี ยาแก้ปวดลดไข้ ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาคลินิกเอกชน ค่าทัศนาจรในประเทศและต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์

                    เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.37 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 0.43  

                    ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.15 ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารเครื่องบิน สุรา เบียร์ ไวน์ น้ำยาปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์ซักผ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (น้ำยาระงับกลิ่นกาย โฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.13 ตามการลดลงของ เนื้อสุกร ไก่ย่าง ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม ขนมปังปอนด์ อาหารจากธัญพืช และขนมอบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสด (มะนาว แตงกวา ถั่วฝักยาว) ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน สับปะรด ฝรั่ง) น้ำหวาน และอาหารเช้า  

                    ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.79 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.21 (QoQ)

                    แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น (2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และช่วงเดียวกันของปีก่อน (3) ฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก และ (4) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ (1) ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผัก รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก (2) เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และ (3) การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง 

                    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลาง 0.7) เป็นระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลาง 0.5) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะมีการทบทวนต่อไป

                    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2567 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.1 จากระดับ 54.2 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับลดลงมาอยู่ระดับ 46.1 จากระดับ 46.4 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) คงที่โดยอยู่ที่ระดับ 59.5 ปัจจัยหนุนที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น คาดว่ามาจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (2) ภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง (3) ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าว และยางพารา อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความกังวลของประชาชนที่มีต่อภาระหนี้สินและกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 
กระทรวงพาณิชย์
5 เมษายน 2567

Login