อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงลดลง ตามราคาอาหารสดและน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 107.22 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.05 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.77 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้ง น้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 1.11 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 4 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนแรกของปี 2567 ที่หลายประเทศชะลอตัวลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงร้อยละ 0.77 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.97 ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง ผักสด (มะนาว แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก นอกจากนี้ น้ำมันพืช และน้ำปลา ราคาปรับลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ครีมเทียม ผลไม้บางประเภท (แตงโม กล้วยหอม มะม่วง) น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.63 เนื่องจากน้ำมันในกลุ่มดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ นอกจากนี้ เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น) รวมถึง สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ราคาปรับลดลง สินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาโรค ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าโดยสารเครื่องบิน บุหรี่ สุรา และไวน์
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.43 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 0.52
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.22 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.60 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ค่าโดยสารเครื่องบิน น้ำยาระงับกลิ่นกาย โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน สุรา เบียร์ และไวน์ ราคาปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ เสื้อผ้าบุรุษ และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.33 ตามการลดลงของ เนื้อสุกร ไก่ย่าง ปลาช่อน ปลาทู ปลาหมึกกล้วย ไข่ไก่ นมผง นมเปรี้ยว ผักสด (พริกสด มะเขือเทศ ผักกาดขาว) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ข้าวสารเจ้า ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน องุ่น แตงโม) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.94 (AoA)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 (2) ฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด และ (3) เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น (3) สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และ (4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 54.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นคาดว่ามาจาก (1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (2) การขยายตัวของภาคการส่งออก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและนโยบายความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และ (3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าวหอมมะลิ และยางพารา ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิดปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
———————————————————-
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
5 มีนาคม 2567