หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > จีนแผ่นดินใหญ่ประกาศระงับนำเข้ามะม่วงจากจีนไต้หวัน เริ่ม 21 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

จีนแผ่นดินใหญ่ประกาศระงับนำเข้ามะม่วงจากจีนไต้หวัน เริ่ม 21 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

นาง Zhu Fenglian โฆษกสำนักงานกิจการของสภาแห่งรัฐจีนไต้หวัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ศุลกากรจีนแผ่นดินใหญ่ได้ประกาศระงับการนำเข้ามะม่วงจากจีนไต้หวัน เนื่องจากตรวจพบศัตรูพืช อย่าง เพลี้ย ปะปนเข้ามากับสินค้า ซึ่งจีนมองว่าจากศัตรูพืชที่ถูกนำเข้ามา อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อผลผลิต และสร้างความไม่มั่งคงให้กับระบบนิเวศทางการเกษตรในประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากแหล่งที่มาของศัตรูพืช กรมศุลกากรจีน ได้ตัดสินใจระงับการนำเข้ามะม่วงจากจีนไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งทางการจีนแผ่นดินใหญ่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ ผ่านช่องทางการติดต่อตามข้อตกลงความร่วมมือในการตรวจสอบและกักกันสินค้าทางการเกษตรระหว่างช่องแคบจีนไต้หวัน ส่งผลให้จีนไต้หวันต้องเร่งปรับปรุงและจัดการสุขอนามัยด้านศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น

จากปัญหาด้านศัตรูพืชที่ปะปนกับสินค้านำเข้าทางการเกษตรจากจีนไต้หวัน ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 กรมศุลกากรจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ออมมาระบุว่ามีการตรวจพบศัตรูพืชที่ปะบนเข้ามากับชมพู่และน้อยหน่าจากจีนไต้หวันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงตามกฎระเบียบและกฎหมายการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ส่งให้จีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจระงับการนำเข้าชมพู่และน้อยหน่าจากจีนไต้หวัน ตั้งแต่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นไป แต่หลังจากระงับการนำเข้าได้ 638 วัน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 กรมศุลกากรจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาอนุญาตการนำเข้าน้อยหน่าจากจีนไต้หวันอีกครั้ง โดยสินค้านำเข้าต้องมาจากโรงงานบรรจุภัณฑ์และสวนผลไม้ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนการส่งออก และมีการดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่เป็นไปตามกฎระเบียบแล้วเท่านั้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของกระทรวงการเกษตรจีนไต้หวัน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 มิถุนายน 2566 จีนไต้หวันส่งออกมะม่วงแล้วร่วมทั้งสิ้น 899.1 ตัน โดยจีนไต้หวันส่งออกไปยังจีนฮ่องกงปริมาณมากเป็นอันดับ 1 มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 367.77 ตัน รองลงมีคือเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ตามลำดับ โดยมีปริมาณการส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ 45.8 ตัน นาย Chen Junji หัวหน้าแผ่นกการเกษตรของจีนไต้หวัน กล่าวว่า ในปี 2566 จำนวนมะม่วงที่คาดว่าจะถูกส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่มีประมาณเพียง 1000 ตัน เท่านั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมะม่วงทั้งหมดในประเทศ มะม่วงส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังจีนฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นหลัก นอกจากนี้ ฤดูผลผลิตมะม่วงของจีนไต้หวันในปีนี้กำลังจะสิ้นสุดลง โดยการระงับการนำเข้ามะม่วงของจีนแผ่นดินใหญ่ คาดว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะแรกมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตมะม่วงในปีหน้ามีจำนวนมาก อาจส่งผลให้ราคามะม่วงในประเทศลดลง ชาวสวนบางส่วนในจีนไต้หวันเริ่มเกิดความกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากการรับงับการนำเข้ามะม่วงของจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงยืดเยื้อเป็นเวลานาน

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2566 จีนเริ่มค่อยๆ ฟื้นฟูการนำเข้าผลไม้จากจีนไต้หวันที่มีการระงับก่อนหน้า เริ่มจากน้อยหน่า แต่เนื่องจากการตรวจพบศัตรูพืชซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสินค้าทางการเกษตรของจีนไต้หวัน ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจระงับการนำเข้ามะม่วงอีกครั้ง จากการระงับการนำเข้ามะม่วงจากภูมิภาคไต้หวันของจีน จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มโอกาสในการส่งออกของผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จีนกำหนดอย่างเคร่งครัด อนึ่ง ถึงปัจจุบันจีนอนุญาตนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย จำนวน 22 ชนิด โดยมะม่วงเป็นหนึ่งในนั้น และในบรรดาประเทศอาเซียน ประเทศไทยได้รับอนุญาตนำเข้า มีชนิดของผลไม้สด มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้ของจีนมากที่สุดอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 จีนนำเข้ามะม่วง (HS Code 08045020 : Mangoes, Fresh Or Dried) ปริมาณทั้งสิ้น 10,626 ตัน ลดลงร้อยละ 87.04 YoY  คิดเป็นมูลค่า 9.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 82.83 YoY โดยจีนนำเข้ามะม่วงจากไทยปริมาณสูงสุด 3,597 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.30 YoY (คิดเป็นสัดส่วน 33.85 ของประเทศและภูมิภาคที่จีนนำมะม่วงทั้งหมด)  คิดเป็นมูลค่า 3.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.40 YoY  รองลงมาคือ เวียดนามปริมาณนำเข้า 3,083 ตัน ลดลงร้อยละ 93.86 YoY (คิดเป็นสัดส่วน 29.02 %) พม่า ปริมาณนำเข้า 2,037 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 134.72 YoY (คิดเป็นสัดส่วน 19.17%) และจีนไต้หวันอันดับที่ 4 มีปริมาณนำเข้า 968 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,062 YoY (คิดเป็นสัดส่วน 9.11%) ตามลำดับ โดยนำเข้าผ่านทาง มณฑลยูนนานปริมาณสูงสุด รองลงมาคือ มณฑลกว่างตง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเหอเป่ย ตามลำดับ

ที่มา :

https://mp.weixin.qq.com/s/NBgzgfxpb1pd8tyyB0d_2Q

https://export.shobserver.com/baijiahao/html/645222.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

25 สิงหาคม 2566

Login