หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > การส่งออกปุ๋ยของรัสเซีย

การส่งออกปุ๋ยของรัสเซีย

เมื่อเร็วๆ นี้ Roscongress  Foundation ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 การนำเข้าปุ๋ยของสหรัฐอเมริกาจากรัสเซียสูงถึง 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 127.4% (262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสหรัฐฯ ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่รัสเซียส่งออกปุ๋ยรายใหญ่สามอันดับแรก รองจากอินเดียและบราซิล โดยที่ ผ่านมา ปริมาณการซื้อปุ๋ยจากรัสเซียของทั้งสามประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นมากที่สุดโดยมีมูลค่าเกือบ 708 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2021 ปุ๋ยทีรัสเซียส่งไปอินเดียมีมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งของการส่งออกปุ๋ยของรัสเซียไปในตลาดยุโรปได้ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้จัดหาและส่งปุ๋ยจากประเทศอื่น เช่น แอลจีเรีย อียิปต์ ตรินิแดดและโตเบโก และสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ดี คาดว่า รัสเซียจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดละตินอเมริกา และอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 15% ของการบริโภคปุ๋ยทั่วโลก และ 80% ในภูมิภาคเอเชียใต้  (อ้างโดย RIA Novosti)

อนึ่ง แม้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลง แต่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตปุ๋ยรัสเซียได้มีการเพิ่มผลผลิต 3%  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดภายในประเทศ  อย่างไรก็ดี  ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 บริษัทเคมีภัณฑ์ได้ถูกเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอากรขาออก (Export Duty) ซึ่งผู้ผลิตฟอสเฟตและปุ๋ยเชิงซ้อนจะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะมีผลทำให้เกิดการเพิ่มการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ

สำหรับประเทศไทย แม้ในช่วงที่ผ่านมาไทยจะไม่ขาดแคลนปุ๋ยเคมีในประเทศ โดยมีสต๊อกปุ๋ยทั่วประเทศจำนวน 1 ล้าน 2 แสนตัน  และตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ราคาปุ๋ยทยอยปรับลดลงต่อเนื่องร้อยละ 32-51 แต่ในชั้นนี้ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า หากรัสเซียขึ้นอากรขาออกสำหรับปุ๋ยจะมีผลอย่างไรต่อราคาปุ๋ยในตลาดโลกหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อไทยในอนาคตหรือไม่ อย่างไร

ที่มา:

–  Roscongress: US increased fertilizer imports from Russia by 127% in the first quarter (https://www.kommersant.ru/doc/6162755)

– กรมการค้าภายในยันปุ๋ยเคมีปีนี้ ไม่ขาดแคลน ไม่ต้องกักตุน (https://mgronline.com/uptodate/detail/9660000055696)

– กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login