หน้าแรกTrade insightข้าว > การระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย: ผลกระทบต่อเปรู

การระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย: ผลกระทบต่อเปรู

นอกจากข้าวโพดและข้าวสาลีแล้ว ข้าวยังเป็นหนึ่งในพืชหลักสำคัญของโลก จากรายงานการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรกรรมโลก (WASDE) สำหรับปี 2565/2566 ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ซึ่งจากรายงานดังกล่าวพบว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกลดลงเหลือ 503.7 ล้านตัน (ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการคาดการณ์ เมื่อปี 2560/2561 หรือลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า) ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตที่จะได้จากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศจีน จะลดลงประมาณร้อยละ -1.3 หรือคิดเป็นปริมาณ 147 ล้านตัน อินเดีย ลดลงร้อยละ -4.8 หรือคิดเป็นปริมาณ 124 ล้านตัน ปากีสถาน ลดลงร้อยละ -27.5 และศรีลังกา ลดลงร้อยละ -12.2 ในขณะที่หลายประเทศสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 แต่ปริมาณผลผลิตข้าวที่ประเทศอินเดียจัดเก็บภายในประเทศ ในปี 2565/2566 มีปริมาณ 29.5 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ -13 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า)

ที่ผ่านมา อินเดียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของปริมาณข้าวในตลาดโลก ปี 2566 หรือคิดเป็นปริมาณ 22.3 ล้านตัน โดยจากรายงานฯ ของ USDA – WASDE คาดการณ์ว่าอินเดียจะส่งออกข้าวในช่วงปี 2565 – 2566 ประมาณ 19.5 ล้านตัน นอกจากนี้ ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญหลายประเทศ จะมีปริมาณการส่งออกลดลงในปี 2566 เช่น อาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย จีน อินเดีย และปากีสถาน อย่างไรก็ดี หลายประเทศสามารถผลิตและส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น เช่น ปารากวัย ไทย เวียดนาม  โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่าร้อยละ 20 ในปี 2566 นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง ทำให้ไทยสามารถขายผลผลิตข้าวได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาขายข้าวของเวียดนาม และอินเดียยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

การผลิตข้าวส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 90 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย และอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตและส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก โดยในปี 2565 อินเดียเริ่มมีการจำกัดปริมาณการส่งออกข้าว (ข้าวหัก) และมีการเพิ่มภาษีการส่งออกข้าว (ข้าวอื่นที่ไม่ใช่บาสมาติ) ร้อยละ 20 กระนั้น การส่งออกข้าวของอินเดีย ยังคงอยู่ในปริมาณสูง หรือคิดเป็นปริมาณ 22.3 ล้านตัน ในปี 2565 จนกระทั่ง อินเดียประกาศงดการส่งออกข้าว (ข้าวขาว) ในเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลก และความไม่แน่นอนด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยอินเดียแจ้งว่า ประสบกับปัญหาผลผลิตลดต่ำลงจากการปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา) และต้องการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการส่งออกสินค้าข้าว ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ และเพื่อให้มีข้าวเพียงงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ[1] มาตรการงดการส่งออกข้าวขาวของอินเดีย ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลก และราคาข้าวจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริการที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายสำคัญ เช่น บราซิล  อาร์เจนตินา  ปารากวัย และอุรุกวัย ทั้งนี้ ไม่มีประเทศใดในโลก (เพียงประเทศเดียว) สามารถผลิตข้าวได้ในจำนวน 19.5 ล้านตัน เพื่อทดแทนปริมาณข้าวที่อินเดียงดการส่งออก โดยราคาข้าวในช่วงกลางเดือนกรกรฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจาก 355 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 495 เหรียญสหรัฐต่อตัน

รัฐบาลเปรู ได้ประกาศว่าผลผลิตข้าวของเปรูมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องหลายปี และคาดการณ์ว่าผลผลิตในปีนี้จะลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ La Niña ที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อปลายปี 2565 และสภาพอากาศที่หนาวเย็น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2566 (พายุไซโคลน Yaku) ทำให้ผลผลิตข้าวของเปรูในปี 2565 มีปริมาณ 3.45 ล้านตัน หรือลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า[2] นอกจากนี้ เปรูมีการนำเข้าข้าวในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 86.8 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้าข้าวจากไทยอยู่ในลำดับที่ 160 ที่เปรูมีการนำเข้าจากไทย (สินค้านำเข้าจากไทยทั้งหมด 1,111 รายการ) โดยที่ผ่านมา เปรูนำเข้าข้าวส่วนใหญ่จากบราซิล (ร้อยละ 54) อุรุกวัย (ร้อยละ 38) เอกวาดอร์ (ร้อยละ 5.62) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ข้าวจากอินเดียอยู่ในลำดับที่ 10 ที่เปรูนำเข้าจากทั้งหมด 17 ประเทศ โดยการนำเข้าข้าวจากอินเดียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.08 ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562 – 2565 เป็นช่วงที่เปรูมีการนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 129.94 รองลงไป คือ เอกวาดอร์ (ร้อยละ 95.25) เวียดนาม (ร้อยละ 59.11) ตามลำดับ

สำหรับช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 การนำเข้าข้าวของเปรูลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.44 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไม่มีการนำเข้าจากอินเดีย และมีการนำเข้าข้าวจากบราซิลลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.94 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เปรูมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากหลายประเทศ เช่น อุรุกวัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.99 ไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,316 (หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าจาก 62,334 เหรียญสหรัฐ เป็น 2.13 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทำให้ข้าวไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.13 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 5.07 ในปี 2566 และไทยเป็นประเทศในลำดับที่ 4 ที่เปรูนำเข้าข้าวสูงที่สุดในปี 2566 ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากบางประเทศของเปรูในปีนี้ เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค

ข้าวที่จำหน่ายในตลาดของเปรู[1] ส่วนใหญ่บรรจุถุงที่มีปริมาณแตกต่างกัน ได้แก่  3/4 กิโลกรัม  1 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม และ 10 กิโลกรัม ซึ่งข้าวที่จำหน่ายในตลาดค้าส่ง จะมีขนาดบรรจุ 49-50 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ระหว่าง 35.78 – 41.08 เหรียญสหรัฐต่อถุง ส่วนข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จากอุรุกวัย มีราคาขายส่ง ที่ 52.20 เหรียญสหรัฐ โดยผู้บริโภคที่มีรายได้สูงเป็นกลุ่มเป้าหมายของข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ในส่วนของการบริโภคข้าว จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรเปรู ชาวเปรูมีการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นจาก 42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2543 เป็น 61 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นปริมาณบริโภคข้าวสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา[2] โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยมีการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ของรายการค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือนทั้งหมด

อัตราภาษีนำเข้าข้าวของเปรู อยู่ที่อัตราร้อยละ 20 และค่าธรรมเนียมภาษีร้อยละ 5 นอกจากนี้ รัฐบาลเปรูมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ (612 เหรียญสหรัฐ) และเพดานราคาข้าว (682 เหรียญสหรัฐ)[3] สำหรับราคา CIF โดยจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหากราคา  CIF ไม่อยู่ในช่วงราคาขั้นต่ำหรือเพดานราคาข้าวดังกล่าว ซึ่งการกำหนดมาตรการดังกล่าว เพื่อลดการแปรปรวนของราคาข้าวในตลาดของเปรู ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2565 รัฐบาลเปรูได้กำหนดราคาอ้างอิง FOB ใหม่ จากเดิม 545 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน

จากรายงาน Infoarroz ของ Cirad ประจำเดือนพฤษภาคม 2566[4] ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.6 เนื่องจากอินโดนีเซียที่หยุดการซื้อ/นำเข้าข้าวเป็นเวลา 4 ปี ได้กลับมาซื้อ/นำเข้าข้าวอีกครั้ง และจากรายงานภาวะตลาดข้าวของ Creed Rice Co., INC ประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ราคาข้าวเมล็ดยาว 5% เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย ได้แก่ ปากีสถาน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.10) เมียนมา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.94) และอินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.54) ตามลำดับ ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยเฉพาะของอินเดีย ถือว่าเป็นราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงที่สองของปี 2566) เป็นเหตุผลหนึ่งในการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย

บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.

การนำเข้าข้าวของเปรู มีจุดประสงค์หลักเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูงและต้องการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพสูง ซึ่งข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีคุณภาพสูงกว่าข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศ และมีราคาสูงกว่าข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศประมาณร้อยละ 35 ที่ผ่านมา เปรูนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเฉพาะในช่วงที่ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยในปี 2565 เปรูนำเข้าข้าวจากอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.08 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด ในขณะที่เปรูนำเข้าข้าวจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.29 ทั้งนี้ ข้าวจากอินเดียและข้าวจากไทยที่เปรูนำเข้ามิได้เป็นคู่แข่งกันในตลาดข้าวของเปรู

แม้ว่าในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 เปรูมีการนำเข้าข้าวโดยรวมลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.44 แต่มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากบางประเทศ เช่น อุรุกวัย โดยเปรูนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33[5] เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ข้าวจากอุรุกวัยมีส่วนแบ่งในตลาดข้าวนำเข้าที่ร้อยละ 46.7 และเปรูนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3,316 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากบางประเทศ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า เป็นการนำเข้าเพื่อเก็งกำไรตามราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หรือเพื่อชดเชยการผลิตข้าวในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย มิได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อเปรู แต่อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้เปรูหันมานำเข้าข้าวจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ถูกกว่าและสามารถสนองตอบต่อความต้องการนำเข้าของเปรู ซึ่งประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย เช่น รัสเซีย จีน ประเทศในกลุ่มแอฟริกา  สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งประเทศดังกล่าวมีการนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนิโญในช่วงที่สองของปี 2566 (ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าว) ยังเป็นคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวของเปรู รวมถึงประเทศอื่น ๆ (เช่น บราซิล อาร์เจนตินา) ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยผลกระทบดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อไทยในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวในกลุ่มที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจัดเตรียมแผนการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ เน้นความแตกต่างของข้าวไทยที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย และราคาที่แข่งขันได้

_________________________________

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม   2566

[1] In Peru, apart from the Aged Rice (Rice is going through a resting process of 12 to 18 months) which is another category of rice, there are several qualities of rice based on variables such as the percentage of: colored grains, brown grains (total and partial), damaged grains, varietal mixture, foreign matter, broken grains. But to simplify we rely on two characteristics giving the following:

  • Extra Rice (grade 1) .- with 0% damaged grains and 5% broken grains.
  • Superior Rice (grade 2).- with 0.5% damaged grains and 15% broken grains.
  • Ordinary Rice (grade 3).- with 2% damaged grains and 25% broken grains
  • Popular Rice (grade 4).- with 4% damaged grains and 35% broken grains

[2] https://www.indecopi.gob.pe/documents/474320/632243/Doc01.PDF ; https://agraria.pe/noticias/consumo-per-capita-de-arroz-en-peru-alcanza-un-volumen-aprox-28976f

[3] https://estadisticas.bcrp.gob.pe/estadisticas/series/mensuales/resultados/PN01690PM/html

[4] https://www.infoarroz.org/portal/uploadfiles/20230512094418_15_ia0423es.pdf

[5] Uruguay: First Partner for Rice imports in Peru with + 33% more imports in 2023 compared to same period in 2022 and an increased share in the total rice imports of 46.7% compared to 32.99% in 2022, taking the lost market from Brazil which decreased its exports to Peru almost 42% in 2023

[1] https://www.ifpri.org/blog/indias-new-ban-rice-exports-potential-threats-global-supply-prices-and-food-security#:~:text=Blog%20%3A%20Issue%20Post ,India’s%20new%20ban%20on%20rice%20exports%3A%20Potential%20threats%20to,supply%2C%20prices%2C%20and%20food%20security&text=On%20July%2020%2C%20India%20announced,October%202022%20(Figure%201)

[2] https://gestion.pe/economia/produccion-de-arroz-en-caida-por-mal-clima-arroz-noticia/?ref=gesr

Login