ธนาคารแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าในเดือนเมษายน 2023 เงินฝากสกุลหยวนลดลง 460,900 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.30 ล้านล้านบาท ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมาเงินฝากสกุลหยวนลดลง 552,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.76 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินฝากในครัวเรือนลดลง 1.2 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท และเงินฝากสำหรับธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินลดลง 140,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 704,000 ล้านบาท ขณะที่ เงินฝากสาธารณะเพิ่มขึ้น 502,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.51 ล้านล้านบาท และเงินฝากของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มขึ้น 291,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
สำหรับสาเหตุที่ในเดือนเมษายน 2023 เงินฝากในครัวเรือนลดลงอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันได้แสดงความเห็นว่า อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากเสถียรภาพของตลาดทุนและการฟื้นตัวของมูลค่าสุทธิของผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่ง ความเต็มใจของประชาชนในการลงทุนและความมั่งคั่งที่ทยอยฟื้นตัวและเงินฝากบางส่วนไหลกลับไปยังตลาดทุนและตลาดการเงิน ประกอบกับเร็วๆ นี้ ราคาทองคำขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนบางรายหันมาเพิ่มลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง อาจจะเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าอัตราผลตอบแทนของเงินฝากในธนาคารจะลดลง จึงนำเงินบางส่วนไปลงทุนเพิ่มมากขึ้น
จากสถิติย้อนหลังพบว่าเงินฝากในครัวเรือนในช่วงเดือนเมษายนมีแนวโน้มลดลงเป็นจำนวนมากทุกปี โดยพบว่า ในเดือนเมษายน 2019 เงินฝากในครัวเรือนลดลง 624,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.12 ล้านล้านบาท ในปีค.ศ. 2020 ลดลง 799,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.00 ล้านล้านบาท ในปี ค.ศ. 2021 ลดลง 1.57 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 7.85 ล้านล้านบาท และในปี ค.ศ. 2022 ลดลง 703,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากในครัวเรือนในเดือนเมษายนของปี ค.ศ. 2023 ที่ลดลงนั้นมีสาเหตุหลักมาจากความเต็มใจในการออมเงินของประชาชนลดลง หรือการฟื้นตัวของการบริโภค และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารกลางแห่งชาติจีนยังสำรวจพบว่าผู้ออมเงินในเขตเมืองมีแนวโน้มในการบริโภคมากขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.2 และลงทุนมากขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.8 โดยการบริโภคเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.5 และลงทุนมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 3.3 ขณะที่ผู้ออมเงินมีสัดส่วนมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 58 โดยเป็นการออมเงินลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
เมื่อพิจารณาด้านการบริโภค พบว่าในเดือนเมษายน 2023 สัดส่วนแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนเมษายน 2023 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 3.49 ล้านหยวน หรือประมาณ 17.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 (MoM) โดยการบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่ลดลง ทำให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ มาจนถึงในเดือนเมษายน ประกอบกับฐานตัวเลขในเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำจึงทำให้อัตราการขยายตัวในเดือนเมษายนของปีนี้ขยับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา การบริโภคโดยรวมของจีนฟื้นตัวในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะความต้องการบริโภคในภาคบริการ สืบเนื่องจากประชาชนออกไปชอปปิง รับประทานอาหารนอกบ้าน และท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้การบริโภคที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนเมษายน 2023 รายได้ร้านอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 375,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.88 ล้านล้านบาท ด้านธุรกิจขนส่งผู้โดยสารก็เติบโตอย่างทวีคูณ เช่นเดียวกับรายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศภาพยนตร์ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
โฆษกประจำสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า การบริโภคที่ฟื้นตัวของประชนมีแนวโน้มยกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคด้านบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ยอดขายปลีกในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่วันหยุดในช่วงต้นปีเป็นต้นมา การบริโภคด้านการท่องเที่ยว การชอปปิง การใช้บริการในร้านค้าร้านอาหารโรงแรมต่างพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงวันหยุดวันแรงงานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามียอดนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยวล้วนแต่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2019
เมื่อพิจารณาด้านตลาดทองคำ พบว่าประชาชนหันมาจับจ่ายซื้อทองคำกันอย่างคึกคัก โดยในเดือนเมษายน 2023 พบว่ายอดค้าปลีกของสินค้าเครื่องประดับจิวเวลรี เครื่องเงิน เครื่องทองขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.7 ขณะที่ด้านอสังหาริมทรัพย์พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2023 พื้นที่ขายบ้านทั่วจีนลดลง 0.4 (YoY) แต่ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) ส่วนตลาดรถยนต์ พบว่าในเดือนเมษายน 2023 ยอดผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ Passenger Vehicle เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.5 (YoY) และร้อยละ 87.7 (YoY) ตามลำดับ หรือคิดเป็นจำนวน 17.78 ล้านคัน และ 18.11 ล้านคัน ตามลำดับ
โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแสดงความเห็นว่า กระแสการบริโภคด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การ Livestreaming ของ KOL ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และกลายเป็นแสงสว่างใหม่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน โดยปัจจุบันการฟื้นตัวด้านการบริโภคของจีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ความสามารถในการบริโภคของประชาชนและความยินดีที่จะบริโภคยังมีโอกาสขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดี การจ้างงานเพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมการบริโภคดีขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าการบริโภคของจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง
เศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2023 มีทิศทางการเติบโตที่ดีต่อเนื่องมาจากการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่ส่งผลให้การบริโภคขยายตัวได้ดีขึ้นก็คือการบริโภคในชีวิตประจำวัน และบริโภคธุรกิจบริการ เป็นต้น ขณะที่การบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนการลงทุนในครัวเรือนยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
การออมเงินหรือการฝากเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนและเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในเดือนเมษายน 2023 นี้ พบว่าเงินฝากหรือเงินออมในภาคครัวเรือนลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ประชาชนจึงหันไปนำเงินมาลงทุนกันมากขึ้น ประกอบกับการบริโภคที่ฟื้นตัว ทำให้ประชาชนมีความยินดีที่จะจ่ายซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนเมษายน 2023 ที่ขยับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ18.4 โดยพบว่าภาคบริการมีการจับจ่ายกันอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงวันหยุดต้นปีเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว การชอปปิง การออกไปรับประทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดทองคำ ตลาดรถยนต์ก็ยังมีทิศทางที่สดใสเป็นอย่างมาก ซึ่งการจับจ่ายของจีนที่ฟื้นตัวถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดส่งออกมายังประเทศจีน โดยเฉพาะในภาคบริการต่างๆ อาทิ ด้านบริการร้านอาหารไทย ด้านการบริโภควัฒนธรรมและการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้ทุกเพศทุกวัย รวมทั้งนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ เช่น บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง บริการสันทนาการต่างๆ บริการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนสำหรับวัยทำงานยุคใหม่ เป็นต้น ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนที่ต้องการแสวงหาความสุขให้กับตนเองในช่วงวันหยุดและหลังจากการทำงานหนักตลอดสัปดาห์ และเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองด้วย เป็นต้น ดังนั้น การติดตามข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในจีนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างทันท่วงที
http://finance.china.com.cn/news/20230517/5984328.shtml
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)