หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > กระแสการค้าออนไลน์ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่น

กระแสการค้าออนไลน์ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่น

ตามที่สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ เมืองฮิโรชิมาได้รายงานเกี่ยวกับตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวภายหลังสถานะการโควิด 19 และในขณะเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคญี่ปุ่นซึ่งนิยมการซื้อหาเฟอร์นิเจอร์ผ่านช่องทางพาณิชย์อิเลทรอนิกส์หรือการค้าออนไลน์กันมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาการค้าทางออนไลน์ของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่นก็ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2021 (ตาราง 1) สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของประดับตกแต่งบ้าน และของใช้จิปาถะในชีวิตประจำวัน มีขนาดตลาดคิดเป็นมูลค่า 22.75 แสนล้านเยน (6.5 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.7 และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 (กราฟ 1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2020 ซึ่งเริ่มมีการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่การค้าออนไลน์สินค้าเฟอร์นิเจอร์กลับมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.3 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการต้องกักตัวในบ้าน ทำให้การซื้อหาสินค้าต่างๆผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นรวมทั้งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ด้วยเช่นกัน
เมื่อพิจารณาอัตราการค้าออนไลน์ของสินค้ากลุ่มดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความนิยมในการซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์ฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างโดดเด่นมาโดยตลอด กล่าวคือ มีสัดส่วนพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ (E-commerce Ratio) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.5 ในปี 2014 เป็นร้อยละ 28.2 ในปี 2021 ทั้งนี้ ในสินค้ากลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยประเภทสินค้าจิปาถะใช้ในชีวิตประจำวันและครัวเรือน (เช่นน้ำยาซักผ้า กระดาษทิชชู ฯลฯ)ร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นเฟอร์นิเจอร์และของประดับตบแต่งบ้าน
ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าการใช้จ่ายต่อหัวสำหรับสินค้ากลุ่มดังกล่าวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย (ตาราง 2) โดยในปี 2021 มีมูลค่า 81,247 เยน(23,300บาท) ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับปี 2019 ก่อนการระบาดของโรคโควิด โดยจะเห็นได้ว่าเป็นหนึ่งใน 4 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากสถานะการโควิด
การค้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์ ในด้านผู้ผลิต-ผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่หรือของประดับตบแต่งมีข้อดีคือช่วยขจัดปัญหาเรื่องพื้นที่สำหรับวางโชว์สินค้า เนื่องจากเมื่อเป็นการจำหน่ายออนไลน์ ผู้ค้าสามารถแสดงสินค้าแบบเดียวกันที่ต่างขนาดหรือสีได้อย่างไม่จำกัดผ่านเวปไซต์ และยังสามารถแนะนำการจัดผสม(Coordinate) เฟอร์นิเจอร์ในห้องเป็นสไตล์ต่างๆได้อีกด้วย ผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์จึงมีแนวโน้มมุ่งการจำหน่ายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดผู้ค้ารายใหม่ๆที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ราคาย่อมเยาว์เนื่องจากมีต้นทุนประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่า ในขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ซื้อเองก็มีข้อดี คือ แทนที่จะไปซื้อที่ร้านค้าปลีกซึ่งทั้งต้องเดินทางไปที่ร้านและจ่ายค่าส่งสินค้า การซื้อผ่านทางออนไลน์สะดวกและประหยัดได้มากกว่า โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางยังร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่มักจะตั้งอยู่แถบชานเมือง ดังนั้นการค้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นพบว่าผู้ค้าออนไลน์บางรายมีการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Augmented Reality (AR) มาใช้ ทำให้ผู้ซื้อมองเห็นภาพห้องของตนเมื่อนำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการไปตั้งวาง และทำให้ง่ายต่อการเลือกขนาดที่เหมาะกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมในห้องได้
ภายหลังจากสถานะการการระบาดของโรคโควิด ไลฟ์สไตล์และเวิร์คสไตล์ได้เปลี่ยนแปลงไป การทำงานจากบ้านหรือ Work from home กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานสำหรับบริษัทจำนวนไม่น้อย จึงเชื่อกันว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์จะยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อไป
การปรับตัวของผู้ประกอบการญี่ปุ่นสำหรับการค้าเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์
เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าที่ผู้ใช้ต้องการความมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เหมาะกับการใช้ของตนเอง โดยเฉพาะสินค้าขนาดใหญ่และมีราคา ปกติผู้ซื้อต้องการที่จะได้เห็นของจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้น ในด้านของผู้ค้าทางออนไลน์จึงต้องสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างละเอียดที่สุดผ่านทางเวปไซต์ของตน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเฟอร์นิเจอร์และขนาดกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ น้ำหนัก วัสดุที่ใช้ และสีที่มีให้เลือก และจะต้องแสดงภาพถ่ายซึ่งทำให้ผู้ซื้อสามารถนึกภาพออกว่ามีขนาดใหญ่เท่าใด เช่น โดยการใช้ภาพถ่ายของเฟอร์นิเจอร์ที่มีคนประกอบในภาพถ่ายด้วย หรือถ้าเป็นตู้ก็ต้องเป็นภาพถ่ายของตู้ที่มีสิ่งของต่างๆวางเอาไว้ด้วย เป็นต้น บริษัทผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์ในญี่ปุ่นที่น่าสนใจ เช่น
บริษัท Nitori Holdings เป็นผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ มีร้านสาขาถึง 681 แห่งทั่วประเทศ และกว่า 100 สาขาในต่างประเทศ ในปี 2022 มียอดจำหน่าย 7.1 หมื่นล้านเยน มีสัดส่วนการจำหน่ายออนไลน์ร้อยละ 10.5 โดยมีเวปไซต์ NITORI NET (https://www.nitori-net.jp/ec/) สำหรับการจำหน่ายออนไลน์ กลยุทธ์ของบริษัทฯคือการเชื่อมโยงร้านค้าปลีกและออนไลน์ของบริษัทฯเข้าด้วยกัน ที่เรียกว่า OMO (Online Merges with Offline) โดยในเวปไซต์ของบริษัทฯ ผู้ซื้อสามารถเช็คว่าสินค้าที่ต้องการมีในสต็อกขององร้านหรือไม่ หรือหากใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือก็สามารถหาสินค้าที่ต้องการว่าอยู่ตำแหน่งใดในร้านได้ หากเป็นสินค้าที่สามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบในลักษณะต่างๆได้ เช่นตู้วางของที่อาจเลือกลักษณะที่มีฝาตู้เป็นกระจก หรือไม่ก็เป็นเพียงชั้นโดยไม่มีฝาตู้ ฯลฯ แอปพลิเคชั่นจะแนะนำว่ามีตัวเลือกแบบใดบ้างและแสดงภาพจำลองให้ลูกค้าได้เห็น นอกจากนั้น ลูกค้ายังสามารถเลือกดูสินค้าใน Outlet หรือสินค้าที่ไม่ได้วางไว้ในร้านแต่จำหน่ายทางออนไลน์เท่านั้นได้ด้วย และสำหรับสินค้าขนาดใหญ่ จะมีแผ่นพับที่ให้รายละเอียดต่างๆของสินค้า ซึ่งลูกค้าสามารถนำกลับไปพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อได้ จุดเด่นของการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ของบริษัทฯ คือ การเลือกสินค้าที่ระดับราคาไม่สูงมากสำหรับผู้ซื้อที่ต้องการซื้อเพื่อเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ โดยตั้งเป้าหมายลูกค้าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 8 ล้านเยน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80-90 ของประชากรญี่ปุ่น
บริษัท Bega Corporation เจ้าของเวปไซต์ชื่อดัง LOWYA (https://www.low-ya.com/) เป็นผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ที่ไม่มีร้านค้าปลีก มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม มียอดจำหน่ายในปี 2022 สูงถึง 1.7 หมื่นล้านเยน โดยนอกเหนือจากเวปไซต์ของบริษัทเองแล้ว ยังจำหน่ายในเวปไซต์อื่นๆ เช่น Yahoo! Shopping และ Rakuten Market เมื่อปี 2016 มีสัดส่วนการจำหน่ายในเวปไซต์ของบริษัทฯเพียงร้อยละ 5 แต่จากการพัฒนาปรับปรุงเวปไซต์ของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการจำหน่ายในเวปไซต์ตนเองได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปัจจุบัน จุดเด่นของเวปไซต์บริษัท คือ มิได้เพียงแนะนำตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่สร้างสรรขึ้นจากสินค้าต่างๆที่บริษัทฯจำหน่าย การกำหนดธีมต่างๆ เช่น “การตบแต่งสไตล์ร้านคาเฟ่ย้อนยุคที่ทำให้รู้สึกว่าฤดูใบไม้ผลิกำลังมาเยือน” และคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งของประดับตบแต่งให้เข้ากับธีมดังกล่าว
นอกจากนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการโดยทั่วไปของผู้ซื้อที่อยากเห็นสินค้าจริงๆก่อนซื้อ บริษัทฯได้พัฒนาระบบ Augmented Reality (AR) ในเวปไซต์ ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นสินค้าแบบสามมิติ และยังสามารถนำภาพเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการไปประกบในภาพถ่ายของห้องของตนเพื่อให้เห็นภาพเสมือนจริงของห้องเมื่อมีเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าว บริษัทฯได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาระบบดังกล่าวโดยอาศัยความได้เปรียบที่บริษัทฯไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการมีร้านค้าปลีก
บทสรุปและคำแนะนำสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย
ดังที่กล่าวข้างต้น ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่กระแสการค้าออนไลน์และคาดว่าจะยังคงเป็นรูปแบบการค้าที่ผู้ค้าและผู้ซื้อในญี่ปุ่นนิยมต่อไป ดังนั้นการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังตลาดญี่ปุ่นจึงต้องตระหนักถึงรูปแบบการค้าใหม่นี้ เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับการค้าทางออนไลน์ โดยควรต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
(1) การเตรียมข้อมูลโดยละเอียดของสินค้า โดยที่ผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ผ่านทางออนไลน์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้ซื้อได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าให้มากที่สุด เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงด้วยตัวเองนอกจากข้อมูลและภาพถ่ายในเวปไซต์ ดังนั้น ผู้นำเข้าของญี่ปุ่นที่จะนำเฟอร์นิเจอร์นำเข้าไปจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ย่อมต้องการข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด ตั้งแต่ขนาดสินค้ารวมไปถึงขนาดของกล่องหรือหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ สี และน้ำหนัก และหากเป็นสินค้าซึ่งมีส่วนประกอบที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ตู้วางของที่เลือกแบบมีฝาตู้หรือไม่มีฝาตู้ได้ หรือเก้าอี้ซึ่งสามารถเลือกวัสดุสำหรับเบาะนั่งได้ ฯลฯ ก็ต้องให้รายละเอียดตัวเลือกทั้งหมด ภาพถ่ายของสินค้าควรเป็นภาพถ่ายจากมุมต่างๆของสินค้าและของสินค้าทุกขนาดทุกสี หากผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยเตรียมข้อมูลรายละเอียดเหล่านี้ให้พร้อมไว้เพื่อนำเสนอให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นได้ ย่อมสร้างความประทับใจให้กับผู้นำเข้าซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อได้ทันที ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยอาจเข้าไปดูเวปไซต์จำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ต่างๆในญี่ปุ่น เพื่อศึกษาวิธีการระบุรายละเอียดและภาพถ่ายสินค้าที่ผู้ค้าญี่ปุ่นใช้อยู่ ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาประกอบการเตรียมข้อมูลสินค้าของตน
(2) ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าในระดับสูงสุด ในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อจะเห็นสินค้าจริงเมื่อได้รับสินค้าหลังจากซื้อแล้วเท่านั้น ทำให้ผู้ค้าทางออนไลน์ต้องให้ความมั่นใจอย่างสูงสุดกับผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และในปัจจุบันการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ทำได้ง่าย การรีวิวสินค้าโดยผู้บริโภคเป็นสิ่งที่กระทำกันอย่างกว้างขวางและส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะซื้อสินค้านั้นๆหรือไม่ ดังนั้น เพื่อรักษาชื่อเสียงเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าของตน ผู้ค้าทางออนไลน์ในญี่ปุ่นจึงยิ่งต้องใส่ใจในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าอย่างสูงสุด รวมทั้งจะต้องรักษาระดับคุณภาพไว้เพื่อให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นมั่นใจที่จะสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง
(3) ประเด็นอื่นๆที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยต้องให้ความใส่ใจ เช่นเดียวกับการส่งสินค้าอื่นๆไปยังตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ การกำหนดราคาที่เหมาะสม การส่งมอบที่ตรงเวลา รวมทั้งการสื่อสารอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอกับผู้นำเข้าตั้งแต่ช่วงการเจรจาซื้อขายไปจนถึงเมื่อได้รับการสั่งซื้อและส่งมอบสินค้า

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login