หน้าแรกTrade insight > กระทรวงพาณิชย์ ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และเปิดตัวระบบ Big Data ยกระดับสินค้าเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และเปิดตัวระบบ Big Data ยกระดับสินค้าเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และเปิดตัวระบบ Big Data ยกระดับสินค้าเกษตร

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดงาน “ร่วมคิด ร่วมค้า ท้าทายเศรษฐกิจโลก: การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนากลยุทธ์การค้าเศรษฐกิจใหม่” ในวันนี้ (พุธที่ 18 กันยายน 2562) ณ โรงแรม Swissotel กรุงเทพ รัชดา เพื่อรับฟังความคิดเห็นยุทธศาสตร์การค้าเศรษฐกิจใหม่  (New Economy) พร้อมเปิดตัวระบบประมวลผล Big Data สินค้าเกษตรสำคัญ เพื่อใช้ขับเคลื่อนภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

          นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย กล่าวระหว่างเปิดงานว่า กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในปัจจุบันไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งนำมาสู่การจัดงานครั้งนี้เพื่อนำความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมากำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่แบบองค์รวมที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ แนวทางการยกระดับปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ การปรับปรุงมาตรการสนับสนุนต่างๆ ที่เอื้ออำนวยการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่ากับภูมิภาคและโลก และการปรับรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจใหม่และธุรกิจบริการ 4 สาขาหลักที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ธุรกิจ Digital Contents และธุรกิจโลจิสติกส์ด้านการค้า (Trade Logistics) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังให้เศรษฐกิจใหม่ใน 4 สาขานี้เป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มมูลค่าการค้าด้วยการใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกยุคใหม่

          บริบทโลกยุคใหม่และความท้าทายที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญและเร่งปรับตัว ได้แก่ 1. ประเด็นด้านการเมืองระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ 2. ผลกระทบจากเทคโนโลยี 3. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ 4. ปัจจัยด้านสภาพสิ่งแวดล้อม จากบริบทโลกยุคใหม่และความท้าทายเหล่านี้ จะนำไปสู่การปรับตัวของธุรกิจยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy ที่มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจฐานคุณค่า (Value Economy) คือทำน้อยแต่ได้ผลมาก (Less for More) ตามแนวคิดของนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ใช้แนวคิด Demand Driven และ Value Creation คือใช้ความต้องการตลาดนำการผลิต และเน้นการเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนบูรณาการระหว่าง Sector ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงเป็น Cluster และ Value Chain เศรษฐกิจใหม่ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน (Inclusivity & Sustainability)

          ด้านนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวก (Facilitator) ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) การให้บริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) และส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น (EoDB : Ease of Doing Business) เช่น การบริการออนไลน์ (E-Service) เป็นต้น ตลอดจนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อบุกตลาดและพัฒนาธุรกิจไปข้างหน้า

          การเตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ยังต้องให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่เหมาะสม ถูกต้อง และทันสมัย เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจและใช้ประโยชน์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้เปิดตัวระบบ Big Data เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมีรูปแบบการนำเสนอผ่าน Dashboard ที่นำร่องพืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในช่วงแรกจะพัฒนาระบบเริ่มจากพืชเกษตรสำคัญ 3 ชนิดนำร่อง ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา นอกจากนี้ยังใช้ติดตามสถานการณ์ในด้านอุปทาน (Supply) และ อุปสงค์ (Demand) ทั้งในและนอกประเทศ สามารถคาดการณ์แนวโน้ม และเตือนภัย เพื่อกำหนดนโยบายรักษาเสถียรภาพด้านราคาได้ รวมถึงระบบกำกับและติดตามนโยบายด้านการรับฟังเสียงสะท้อนภาคประชาชน (Policy Dashboard: Social Analytics) ที่นำมาประกอบการวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันการณ์ และครอบคลุมทุกมิติ นำไปสู่การขับเคลื่อนภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

———————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (กระทรวงพาณิชย์)

กันยายน 2562

เอกสารเพิ่มเติม คลิกที่นี่

Login