ตามข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดย World Bank ระบุสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ใน อันดับที่ 7 ของโลก บนพื้นฐานจากทฤษฎี Purchasing Power Parity (PPP) หรือ ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้จำแนกกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกเป็น 4 กลุ่มรายได้ได้แก่ ประเทศรายได้ต่ำ (low) ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower-middle) ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper-middle) และประเทศรายได้สูง(high) จากการประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) โดยใช้วิธี Atlas method โดยยูเออียังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง (high income) เช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา โดยรายได้ประชาชาติต่อหัวในยูเออีในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯปี 2565 อยู่ที่ 48,950 เหรียญสหรัฐฯ จากระดับก่อนหน้าในปี 2564 ที่ 43,460 เหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกจัดกลุ่มประเทศออกเป็น 4 กลุ่มที่จะมีการจัดใหม่ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยเศรษฐกิจถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มตามกลุ่มช่วงของรายได้ตาม GNI ต่อประชากร จากการจำแนกล่าสุด มีดังนี้
ประเทศรายได้ระดับล่างคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1,135 เหรียญสหรัฐฯ ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยระหว่าง 1,136 – 4,465 เหรียญสหรัฐฯ ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 4,466 – 13,845 เหรียญสหรัฐฯ และประเทศรายได้สูงคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 13,845 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ รายงานระบุว่าสถานการณ์รายได้ของแต่ละประเทศดีขึ้นในปี 2566 เนื่องจากการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในแง่ของรายได้ประชาชาติต่อหัวประมาณ 80% ของประเทศทั่วโลกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในปี 2565 เทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
การที่ World Bank ยังคงจัดอันดับให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง โดยรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยูเออียังคงรักษาระดับการเติบโตเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ประชากรส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ ดังนั้นยูเออีจึงยังคงเป็นหนี่งในประเทศที่มีศักยภาพและเป็นประเทศเป้าหมายของตลาดส่งออกสินค้าของไทยในภูมิภาค ทั้งนี้ สถิติล่าสุด ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 ไทยและยูเออีมีมูลค่าการค้ารวม 263,184 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 44,299 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) อัญมณีและเครื่องประดับ 3) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และการนำเข้ามูลค่า 218,884 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำมันดิบ 2) น้ำมันสำเร็จรูป 3) สินแร่โลหะ 4) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 5) ก๊าซธรรมชาติ
WAM
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)