หน้าแรกTrade insightอาหารอื่นๆ > Walmart และ Sam’s Club จัดทำ นโยบาย Enhanced Seafood Policy

Walmart และ Sam’s Club จัดทำ นโยบาย Enhanced Seafood Policy

วันที่ 14 มิถุนายน 2023 Walmart และ Sam’s Club บริษัทในเครือ ประกาศนโยบาย Enhanced Seafood Policy ระบุมาตรฐานใหม่ของอุปทานปลาทูน่าที่บริษัทต้องการ เป็นการพัฒนาความโปร่งใสและกลยุทธการเก็บรวบรวมข้อมูลสินค้าปลาทูน่า ที่จะช่วยป้องกันปัญหาอุปทานปลาทูน่าที่ได้มาจากการจับประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอื่น การประมงผิดกฎหมาย และการไม่ใช้อุปกรณ์การประมงที่กำหนด

Walmart จะใช้นโยบายใหม่นี้กับผู้จัดหาอุปทานป้อนสินค้าให้แก่บริษัทฯที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯและแคนาดา เริ่มต้นปี 2027 โดยผู้จัดหาอุปทานต้องแสวงหาสินค้ามาจาก
– เรือประมงที่มีการสอดส่องควบคุม ด้วยการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือมนุษย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ผู้จัดหาอุปทานต้องแจ้ง Walmart และ Sam’s Club ถึงปัญหาต่างๆทันทีที่ปัญหาเกิดขึ้น (real-time)
– การประมงที่ไม่ทำกิจกรรมโอนถ่ายสินค้าในทะเลหลวง (high seas transshipment) นอกเสียจากว่าการโอนถ่ายนั้นจะอยู่ภายใต้การสอดส่องควบคุมอย่างใกล้ชิดด้วยการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือมนุษย์

Walmart และ Sam’s Club ระบุว่า ภายในปี 2025 สินค้าทูน่าทุกประเภทและทุกแบรนด์ ที่วางจำหน่ายในร้านจะมาจากแหล่งผลิตที่เป็นการประมงที่ได้รับการรับรองแล้วจาก Fishery Improvement Project หรือ Marine Stewardship Council (MSC) เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าว่า สินค้าอาหารทะเลของบริษัทฯมาจากการประมงที่ยั่งยืน ถูกจริยธรรมและถูกกฎหมาย ไม่ใช้แรงงานอย่างไม่ยุติธรรมและไร้มนุษยธรรม และไม่มีการฆ่าปลาฉลามทิ้งทะเลเพื่อเอาครีบ

ที่มา: Walmart: “Raising Standards in Tuna Supply Chains: Walmart and Sam’s Club Announce Enhanced Seafood Policy ”, By Melody Richard, Senior VP, Pantry, Walmart US, Alain Nziigamasabo, Senior VP, GMM Grocery & Beverages, Sam’s Club และ Sam Wankowski, Chief Merchandising Officer, Walmart Canada, June 14, 2023

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นจาก สคต ลอสแอนเจลิส

  1. ความเป็นมาของการจัดทำนโยบาย Enhanced Seafood Policy ของ Walmart และ
    Sam’s Club เริ่มต้นมาจากการทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่าง Walmart และ The Nature Conservancy (TNC) องค์กรสิ่งแวดล้อมที่มีฐานอยู่ ใน Arlington, Virginia ที่นำมาซึ่งความร่วมมือกับ The Republic of Marshall Island จัดตั้งบริษัท The Pacific Island Tuna Co. ในเดือนตุลาคม 2021 ทำธุรกิจจับปลาในทะเลบริเวณ Marshall Islands ผลิตและ/หรือส่งวัตถุดิบไปผลิตในฟิลิปปินส์เพื่อผลิตสินค้าทูน่าแบรนด์ Great Value ที่เป็น private brand ของ Walmart วางจำหน่ายในร้านในเครือของบริษัท Walmart ในราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์อื่น
  2. Walmart ประกาศเจตจำนงค์ว่า ภายในปี 2025 สินค้า canned light และ white tuna ที่วางจำหน่ายในร้านของบริษัทฯในสหรัฐฯและ Walmart และ Sam’s Club ในแคนาดา จะมาจากการประมงที่ต้องได้รับการรับรองจากบุคคลที่สามว่ามีการปฏิบัติที่เป็นแบบยั่งยืน หรือ ต้องมีหลักฐานว่าอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อขอการรับรองดังกล่าว มีรายงานว่าในปี 2021 ร้อยละ 90 ของสินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่วางจำหน่ายใน Walmart ทั่วสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นแบรนด์ของบริษัทฯและแบรนด์อื่นๆ มีใบประกาศนียบัตรรับรองแล้ว
    ตัวอย่างโลโก้ที่ Walmart ใช้บนสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง Great Value
  3. ข้อมูลล่าสุดของ The Marine Stewardship Council (MSC) ระบุว่า ปลาทูน่าที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ 34 แบรนด์ ได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก MSC รวมถึงแบรนด์สำคัญของประเทศไทยคือ Bumble Bee นอกจากนี้ยังมีหลายแบรนด์ที่ใช้วัตถุดิบจากประแทศไทยและได้รับประกาศนียบัตร MSC และสินค้าเหล่านี้วางจำหน่ายในตลาดค้าปลีกเครือข่ายและการค้าทางออนไลน์ 50 แห่งทั่วสหรัฐฯ
    ตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์อื่นๆในตลาดสหรัฐฯที่ได้ประกาศนียบัตร Marine Stewardship Council (MSC)
  4. ลักษณะการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องของคนอเมริกัน
    4.1 นิยมบริโภครองจากกุ้งและปลาแซลมอน อัตราบริโภคโดยเฉลี่ย 1.90 ปอนด์ต่อคนต่อปี ลดลงร้อยละ 0.7
    4.2 นิยมบริโภคเป็นอาหารกลางวันในรูปของการนำไปทำแซนวิส
    4.3 นิยมบริโภคในฤดูร้อน แต่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมเป็นช่วงที่มีการบริโภคปลาทูน่าน้อยที่สุด
    4.4 ปลาทูน่าที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงในตลาดสหรัฐฯเรียงตามลำดับคือ skipjack และ Albacore ลักษณะสินค้าที่ได้รับความนิยมคือ Chunk, light meat in water
  5. แม้ว่าปลาทูน่ายังคงติดอันดับ 3 รองจากกุ้งและปลาแซลมอน ในฐานะอาหารทะเลที่คนอเมริกันนิยมบริโภค แต่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯระบุว่า การบริโภคในตลาดสหรัฐฯแสดงแนวโน้มลดลง สาเหตุหลักมาจาก
    5.1 ความวิตกกังวลเรื่องอันตรายของสารปรอท (mercury) ตกค้าง ที่หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯเช่น USFDA และ EPA (Environmental Protection Agency) รณรงค์เตือนภัยต่อเนื่องถึงอันตรายของสารปรอทตกค้างในอาหารทะเล
    5.2 รสนิยมของผู้บริโภคอเมริกันเปลี่ยนไป ผู้บริโภคเริ่มมีอคติกับสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตยาวนานและมีอายุยาวนาน (shelf life) และหันไปบริโภคอาหารสดแทน จนกระทั่งเกิดวิกฤตเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาอาหารสดพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันกลับมาบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตยาวนานที่มีราคาถูกกว่าอาหารสดเป็นอย่างมากอีกครั้ง คาดว่าเมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้าอาหารสดลดลง ผู้บริโภคจะหันกลับไปเน้นการบริโภคอาหารทะเลสดอีก
    5.3 ลักษณะการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นความต้องการบริโภคสินค้าที่สามารถบริโภคได้โดยทันที โดยไม่ต้องผ่านเข้ากระบวนการปรุงแต่งจัดการแต่อย่างใด และที่สามารถนำติดตัวไปบริโภคได้ในทุกสถานที่
  6. มีความเป็นไปได้สูงที่นโยบายเข้มงวดของ Walmart เรื่องวิธีการได้มาของปลาทูน่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำนโยบายต่างๆที่เป็นการเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องวิธีการได้มาของอาหารทะเลประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดและมีปัญหาการค้ามากที่สุดกับผู้ผลิตในสหรัฐฯที่พยายามเน้นจุดอ่อนเรื่อง ระบบการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักอนามัยทำให้ได้สินค้าที่ไม่บริสุทธิ์ ระบบการผลิตที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานทาส และการทุ่มตลาดสหรัฐฯ
  7. สหรัฐฯเป็นตลาดนำเข้าแท้จริงของปลาทูน่า (net importer) และแม้ว่าอัตราการบริโภคต่อคนต่อปีจะลดลงแต่ตลาดปลาทูน่าของสหรัฐฯยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง
    หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login