หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเครื่องดื่มของจีน

การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเครื่องดื่มของจีน

 

ปัจจุบันบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ในจีนมีการแข่งขันเพื่อครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือด ตั้งแต่การจัดหาทำเลที่ตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ไปจนถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับการผลิตเครื่องดื่ม นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แบรนด์เครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย CR C’estbon, Wanglaoji, Eastroc Beverage, Jianlibao, JDB Beverage, Dayao ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงงาน และบุกตลาดทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว การแข่งขันระหว่างผู้นำตลาดเครื่องดื่มมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การแข่งขันมุ่งเน้นการขยายกำลังการผลิตและการแสวงหาแหล่งผลิตน้ำ ตลอดจนการดึงดูดนักลงทุนจากทุกพื้นที่

เมื่อวันที่ 1 มกราคม แบรนด์เครื่องดื่ม Nongfu Spring ได้ประกาศการลงทุน จำนวนเงิน 5,000 ล้านหยวน เพื่อขยายกำลังการผลิตที่เมืองเจี้ยนเต๋อ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Nongfu Spring ตั้งอยู่ที่เขื่อนโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซินอัน มีกำลังการผลิตน้ำดื่มในแต่ละปีจำนวน 3,000 ล้านขวด โดยได้วางแผนให้เมืองเจี้ยนเต๋อเป็นเมืองต้นแบบแหล่งผลิตน้ำดื่มไฮเอนด์ระดับโลก

ในปี 2023 แบรนด์เครื่องดื่มขนาดใหญ่จำนวนมากได้ดำเนินการขยายการลงทุน เช่น Wanglaoji  ลงทุน 750 ล้านหยวน เพื่อสร้างฐานการผลิตชาเย็นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดในประเทศจีน Nongfu Spring จดทะเบียนเป็น Holding Company  CR C’estbon เซ็นสัญญาทำโครงการสร้างฐานผลิตเครื่องดื่มชาที่มณฑลฝูเจี้ยน นอกจากนั้น Eastroc Beverage ได้ลงทุน 1,000 ล้านหยวนเพื่อสร้างฐานผลิตที่เมืองฉวีโจว นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำอัดลมในประเทศจีน ก็มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดย Dayao ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกตลาดน้ำอัดลมในประเทศจีน ได้ประกาศการมุ่งเน้นขยายตลาดทางตอนใต้ของจีน ในปี 2024

ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการขยายกำลังการผลิตส่งผลต่อ ผลประกอบการอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยครึ่งปีแรกของปี 2023 Nongfu Spring มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 20,462 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.28 กำไรสุทธิ 5,775 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.33  และสามไตรมาสแรกของปี 2023 Eastroc Beverage มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 8,641 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.05 กำไรสุทธิ 1,656 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับรายงานสถิติของ winwin-inc ได้เปิดเผยสัดส่วนยอดขายของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดสามไตรมาสแรกในปี 2022 ของ 3 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ ดังนี้  Nongfu Spring ร้อยละ 37.01 C’estbon ร้อยละ 21.94 Ganten ร้อยละ 19.66 และตลาดชาพร้อมดื่มซึ่งมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ในปี 2023 การแข่งขันของตลาดชาพร้อมดื่มไม่มีน้ำตาลนั้น ครอบครองโดย 3 แบรนด์ใหญ่ คือ Nongfu Spring, Suntory และ Genki Forest มีสัดส่วนทางการตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 90

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า เดือนมกราคม – พฤศจิกายน ปี 2023 อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ และชาสกัด มีรายได้กว่า 1.39 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 มูลค่ากำไรรวม 275,580 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มประเภทดังกล่าว รวม 161.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการผลิตในเดือนพฤศจิกายน สูงถึง 10.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 แสดงให้เห็นว่าธุรกิจเครื่องดื่มในปี 2023 ขยายตัวจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภค มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดเครื่องดื่มจีน             รายงานแนวโน้มการบริโภคน้ำแร่ของ Jingdong Supermarket ปี 2022 เผยว่า แหล่งผลิตน้ำแร่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้แบรนด์เครื่องดื่มมีการระบุสัญลักษณ์แหล่งผลิตน้ำไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภค โดยปัจจุบัน แบรนด์น้ำดื่มบรรจุขวดหลักๆ  ของตลาดได้ครอบครองแหล่งน้ำคุณภาพดีทั้งสี่แห่งภายในประเทศจีน คือ ซีหนาน ฉางไป๋ซาน ฉางซานเจี่ยว   จูซานเจี่ยว ทั้งนี้ Zhu Danpeng นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารในประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่าแหล่งน้ำคุณภาพดีและหายาก คือหนึ่งในจุดขายสำคัญของแบรนด์น้ำดื่มไฮเอนด์ในตลาดจีน และยังเป็นจุดเด่น        ที่สร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคกว่าร้อยละ 80 ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มมีความสำคัญต่อการตลาดเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้ำมะพร้าวและชาไร้น้ำตาล กลายเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมอย่างมาก รายงานการรณรงค์ลดน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มของโครงการจีนสุขภาพดี ปี 2021 ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องดื่มไร้น้ำตาลเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2014 – ปี 2021 อัตราการเติบโตรายปีแบบทบต้น (CAGR: Compound Annual Growth Rate) แตะร้อยละ 40 และคาดการณ์ว่าจนถึงปี 2027 ขนาดตลาดเครื่องดื่มไร้น้ำตาลจะมีมูลค่าสูงถึง 27,660 ล้านหยวน

Lai Yang สมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสภาหอการค้าจีน และรองนายกสมาคมธุรกิจและเศรษฐกิจประจำกรุงปักกิ่งให้ความเห็นว่า นอกจากการขยายกำลังการผลิตแล้ว ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นด้านการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ และรูปแบบธุรกิจใหม่ ตลอดจนการมุ่งเน้นขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยไม่ควรเน้นการลงทุนในประเภทธุรกิจที่กลายเป็น Red Ocean มากเกินไป

เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าประเภทเครื่องดื่มในประเทศจีนมีการปรับราคาขึ้น ในอดีตธุรกิจเครื่องดื่มสามารถเปิดตลาดด้วยราคาที่ต่ำได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่สามารถอาศัยกลยุทธ์ดังกล่าวได้ เนื่องด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากสินค้าที่อยู่ในตลาดจะขึ้นราคาแล้ว ยังพบว่าสินค้าใหม่ๆ ที่บริษัทใหญ่หลายบริษัทเปิดตัวออกสู่ตลาดมีราคาสูงกว่าสินค้าที่มีอยู่เดิมในตลาด

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มในประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการไทยก็ยังสามารถนำสินค้าเครื่องดื่มประเภทใหม่ๆ เข้าไปแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากชาวจีนในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ ไร้น้ำตาล เครื่องดื่มที่ใช้ความหวานทดแทน และเครื่องดื่มที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ทั้งการบริโภคน้ำมะพร้าวสด หรือนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร ทั้งนี้ ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร มีผลิตผลทางการเกษตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถนำมาผลิตเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ได้ เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบไทยและสินค้าไทยที่มีศักยภาพด้านคุณภาพในสายตาของผู้บริโภคชาวจีนจะสามารถขยายตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพมายังตลาดประเทศจีนได้ นอกจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถส่งออกผลไม้ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตน้ำผลไม้และเครื่องผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ให้แก่ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในประเทศจีนได้อีกด้วย

 

ที่มา

https://www.bbtnews.com.cn/2024/0103/500075.shtml

https://new.qq.com/rain/a/20240102A07YDK00

www.baidu.com(ภาพ)

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

อ่านข่าวฉบับเต็ม : การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเครื่องดื่มของจีน

Login