อุปทานน้ำตาลสหรัฐฯกำลังอยู่ในสภาวะตึงตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องมาจากภัยแล้งต่อเนื่องในเม็กซิโกและรัฐหลุยเซียน่า สองแหล่งอุปทานน้ำตาลสำคัญของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐฯพุ่งสูงอย่างมาก
สหรัฐฯเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมขนมหวานขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ประมาณการณ์ยอดค้าปลีกในปี 2021 ที่ 48.8 พันล้านเหรียญฯ สภาวะตึงตัวของอุปทานน้ำตาลปัจจุบันทำให้บริษัทผู้ผลิตขนมหวานสหรัฐฯต้องหันไปหาน้ำตาลนำเข้าจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเม็กซิโก ต้องทำสัญญาล่วงหน้าล๊อกอุปทานน้ำตาลไว้ นอกจากปัญหาอุปทานน้ำตาลตึงตัวอย่างมากแล้ว อุตสาหกรรมขนมหวานสหรัฐฯยังประสบปัญหา ค่าใช้จ่ายในการผลิตอาหารเพิ่มสูงขึ้น การติดขัดของระบบห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงาน ทำให้บริษัทผู้ผลิตขนมหวานต้องปรับขึ้นราคาสินค้าโดยหวังว่าผู้บริโภคจะเข้าใจและยอมรับได้ ในปี 2022 ราคาสินค้าขนมหวานสหรัฐฯเติบโตร้อยละ 13.4 เป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่าอัตราเติบโตของสินค้าโกรเชอรี่ทั่วไป นอกจากนี้หลายบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีอุปทานน้ำตาลที่มั่นคงกว่า
สหรัฐฯมีกฎระเบียบเข้มงวดที่เป็นการคุ้มครองปกป้องผู้ผลิตน้ำตาลสหรัฐฯและป้องกันสภาวะน้ำตาลล้นตลาด ผ่านทางการควบคุมปริมาณการขายภายในประเทศและปริมาณนำเข้าจากต่างประเทศ แต่นโยบายเรื่องนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯถูกวิพากวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิผล และมีการรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมาย Farm Bill 2024 เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบโควต้าน้ำตาลนำเข้า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในสภาวะอุปทานน้ำตาลตึงตัวปัจจุบัน
ที่มา: Gillettnews: “US Confectionery companies Struggle as Sugar Market Tightens”, by Casey Martinez, December 17, 2023
ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อคิดเห็น และคำแนะนำของ สคต. ลอสแอนเจลิส
ปัจจุบันสภาวะขาดแคลนน้ำตาลกำลังระบาดไปทั่วโลก เนื่องจากสภาวะอากาศ El Nino ที่ก่อให้เกิดภัยแล้งและไปลดปริมาณผลผลิตของอินเดีย แหล่งอุปทานน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งและได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออก โดยลดปริมาณส่งออกจากปกติ 11 ล้านตันเหลือเป็น 6 ล้านตัน ประเทศไทย แหล่งอุปทานอันดับสามของโลก ก็คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกันที่อาจทำให้อุปทานน้ำตาลของประเทศไทยในฤดูการผลิต 2023 -2024 ลดลงเกือบร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี บราซิล แหล่งอุปทานใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ยังคงสามารถผลิตน้ำตาลได้จำนวนมาก
แหล่งอุปทานน้ำตาลของสหรัฐฯที่สำคัญคือ ผลผลิตภายในประเทศ สหรัฐฯมีแหล่งผลิตน้ำตาลจากอ้อยอยู่ใน Florida, Louisiana และ Texas และแหล่งผลิตน้ำตาลจากหัวบีทในหลายรัฐบนฝั่งตะวันตก เช่น California Colorado, Idaho, Montana, Oregon, Washington และ Wyoming เป็นต้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลจากอ้อยในปี 2023 ที่ 33 ล้านเมตริกตัน ลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 4.8 นโยบายกระทรวงเกษตรสหรัฐฯกำหนดว่าร้อยละ 85 ของน้ำตาลที่ผู้ผลิตขนมหวาน
สหรัฐฯใช้ต้องมาจากแหล่งผลิตในสหรัฐฯ แต่ปริมาณการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาค อุตสาหกรรมผลิตขนมหวานและเครื่องดื่ม ทำให้ต้องนำเข้าอุปทานน้ำตาลที่เหลือร้อยละ 15 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำตาลอ้อย สหรัฐฯนำเข้าน้ำตาลจาก 40 ประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ ประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเซีย อาฟริกา และแคริเบียน
ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2022 ปริมาณและมูลค่านำเข้าน้ำตาลของสหรัฐฯแสดงแนวโน้มเติบโต อย่างไรก็ดีในปี 2023 มีแนวโน้มว่าปริมาณนำเข้าลดลงขณะมูลค่านำเข้าน้ำตาลยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตอุปทานน้ำตาลโลกที่ทำให้อุปทานน้ำตาลลดลงและราคาตลาดพุ่งสูงขึ้น
ข้อสังเกตุ: ปริมาณและมูลค่านำเข้าในปี 2021 ที่ลดลง เป็นผลมาจากการเติบโตผิดปกติของการนำเข้าในปี 2020 ภายหลังการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้อุปทานในปี 2021 ยังคงอยู่ในระดับสูงจึงไปลดความต้องการนำเข้าในปีดังกล่าว
ปริมาณ (ล้านกิโลกรัมฯ) นำเข้าน้ำตาลของสหรัฐฯปี 2018 ถึงปัจจุบัน แสดงปริมาณนำเข้าจากประเทศไทยที่เป็นไปในทางเติบโต
สภาวะตึงตัวของอุปทานน้ำตาลทำให้โรงงานผลิตขนมหวานสหรัฐฯจำนวนมากทำการตักตุนน้ำตาลล่วงหน้า ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดสหรัฐฯพุ่งสูง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม 2023 ราคาน้ำตาลดิบจากอ้อยสูง ขึ้น 42 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2011 และราคาน้ำตาลดิบจากหัวรูทบีทเพิ่มขึ้น 62 เซ็นต์ต่อปอนด์
การขาดแคลนน้ำตาลอย่างหนักทำให้โรงงานผลิตขนมหวานสหรัฐฯหลายรายจำเป็นต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อสินค้าขนมหวานสำหรับใช้ในเทศกาลต่างๆช่วงปลายปีของลูกค้าหลายราย มีการคาดการณ์ว่าแม้ว่าผลผลิตน้ำตาลไทยในปี 2023/2024 จะยังคงเติบโต สคต ลอสแอนเจลิส มีความเห็นว่าแทนที่จะเน้นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเซีย ผู้ส่งออกน้ำตาลไทยอาจถือโอกาสนี้พิจารณาเน้นการส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับแรก หรือแม้กระทั่งการหาทางเป็นฐานการผลิตสินค้าขนมหวานให้แก่บริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในด้านวัตถุดิบและความสามารถในการผลิต ปัจจุบันโควต้าน้ำตาลที่ประเทศไทยได้รับการจัดสรร คือ
1. โควต้าน้ำตาลดิบ 15,061 MTRV
2. โควต้าน้ำตาลที่กลั่นแล้ว สหรัฐฯจะจัดสรรให้แก่แคนาดา เม็กซิโก 10,300 MTRV และ 2,954 MTRV ตามลำดับ ที่เหลือ 7,090 MTRV จะจัดสรรให้ในรูปของ first-come first-served
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | ข่าวประจำสัปดาห์ 25 – 29 ธันวาคม 2566
หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหรัฐอเมริกากับปัญหาน้ำตาลขาดตลาด